…จากการเดินทางบนสายธรรม บทที่ ๔…
…กฎกติกานั้น เกิดขึ้นมาจากความต้องการของมนุษย์ ซึ่งคือตัวตัณหาความทะยานอยากทั้งหลาย ที่อยากจะให้เป็นอย่างนั้น อยากจะให้เป็นอย่างนี้ หรือไม่อยากจะเป็นอย่างนั้นไม่ให้เป็นอย่างนี้ ทำให้ความพอดีจึงไม่มีในกฎกติกา เพราะว่าแต่ละคนในสังคมนั้น ย่อมมีพื้นฐานที่แตกต่างกันจึงไม่มีบรรทัดฐานแห่งความพอดีจึงไม่มีกฎกติกาอะไรที่ดีที่สุด มีเพียงแต่ความเหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับ จังหวะเวลา โอกาส สถานที่และตัวบุคคลเป็นไปเพื่อความสอดคล้องเหมาะสมกับธรรมชาติทั้งหลาย ซึ่งย่อมจะแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์แห่งยุคสมัย…
…จงเรียกร้องและจัดระเบียบตนเอง…
๐ จงอย่าไป เรียกร้อง ผู้อื่นเขา
จงเรียกร้อง ตัวเรา จะดีกว่า
อย่าไปตั้ง กฎเกณฑ์ กติกา
เพื่อสนอง ตัณหา ของตัวเอง
๐ ทำให้ดู ให้เห็น เป็นตัวอย่าง
เป็นแนวทาง อย่าได้ ไปข่มเหง
ใช้อำนาจ ข่มขู่ ให้กลัวเกรง
อย่าไปเพ่ง โทษเขา ให้เศร้าใจ
๐ จัดระเบียบ ตนเอง ในกฎกิจ
ทำเป็นนิจ ให้ติด เป็นนิสัย
ทำให้ดู อยู่ให้เห็น ความเป็นไป
กระตุ้นให้ จิตสำนึก รู้สึกตาม
๐ การทำงาน คือการ ปฏิบัติ
คือฝึกหัด สติ ไม่มองข้าม
มีสติ อยู่กับตัว ทุกชั่วยาม
ก้าวเดินตาม มรรคา ปัญญามี
๐ เมื่อเสียหนึ่ง ก็อย่าให้ ไปเสียสอง
เมื่อเสียของ อย่าเสียใจ ไม่สดศรี
เมื่อเสียแล้ว เสียไป ใจยังดี
อย่าเสียที เสียศรัทธา ตั้งหน้าทำ
๐ คือคำสอน ของพระ อาจารย์ท่าน
สอนมานาน เมื่อครั้ง ยังอยู่ถ้ำ
คือถ้ำเสือ กระบี่ ที่สอนธรรม
ซึ่งจดจำ ทำตาม ทุกค่ำคืน
๐ เมื่อเสียใจ อะไร ก็เสียหมด
ศรัทธาถด ท้อถอย ไม่สดชื่น
หมดกำลัง แรงกาย ไม่กลับคืน
จิตไม่ตื่น ทุกข์ใจ ไม่มีแรง
๐ เสียอะไร ก็ได้ ใจอย่าเสีย
จะเมื่อยเพลีย ก็อย่าให้ ใจนั้นแกว่ง
ศรัทธามั่น ใจดี ก็มีแรง
ใจคือแหล่ง แห่งพลัง ตั้งให้ดี…
…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔…