…ทบทวนพระไตรปิฎกและคำกวียามใกล้รุ่งอรุณ…
…แก่นแท้ของการประพฤติพรหมจรรย์…
“…ภิกษุทั้งหลาย..! พรหมจรรย์นี้เราประพฤติ…มิใช่ ! มีลาภสักการะและสรรเสริญเป็นอานิสงส์เพราะเปรียบเท่ากับกิ่งและใบของต้นไม้ มิใช่ ! มีความถึงพร้อมแห่งศีลเป็นอานิสงส์ เพราะเปรียบเท่ากับสะเก็ดของต้นไม้มิใช่ ! มีความถึงพร้อมแห่งสมาธิเป็นอานิสงส์ เพราะเปรียบเท่ากับเปลือกของต้นไม้ มิใช่ !ความถึงพร้อมแห่งญาณทัสสนะ (ปัญญา)เป็นอานิสงส์ เพราะเปรียบเท่ากับกระพี้ของต้นไม้
ภิกษุทั้งหลาย ! …การประพฤติพรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุตติ ความหลุดพ้นแห่งจิตนั้น นั่นแหละเป็นประโยชน์ที่มุ่งหมายเป็นแก่นสาร เป็นผลสุดท้ายของพรหมจรรย์ เพราะเปรียบเท่ากับแก่นของต้นไม้..”
(พระไตรปิฎก มหาสาโรปมสูตร
เล่มที่ ๑๒/๓๗๓/๓๕๒)
๐ โลกธรรม นำมา ซึ่งความทุกข์
อยากจะสุข จึงดิ้นรน และขวนขวาย
เพื่อโอ้อวด แข่งขันไป ให้มากมาย
บทสุดท้าย ก็คือกฎ อนิจจัง
๐ ทั้งลาภยศ สรรเสริญ เพลินในสุข
ทำให้ทุกข์ ตามมา ในภายหลัง
เมื่อเสื่อมยศ เสื่อมลาภ ให้ล้มพัง
มีคนชัง ไม่สรรเสริญ และเยินยอ
๐ กินกามเกียรติ กอบโกย จึงโหยหา
ให้ได้มา ในสิ่ง ที่ร้องขอ
เพราะความที่ อยากได้ ไม่รู้พอ
จึงเกิดก่อ ความทุกข์ ไม่สุขใจ
๐ ความสำเร็จ ของชีวิต ที่คิดหา
คือทรัพย์สิน เงินตรา นั้นหาไม่
ความสำเร็จ ของชีวิต อยู่ที่ใจ
บอกว่าพอ เมื่อไหร่ ก็ใช่เลย
๐ เมื่อมุ่งหวัง มาเป็น สมณะ
เพื่อลดละ ทุกสิ่ง ไม่นิ่งเฉย
ทั้งอัตตา ตัวตน ที่คุ้นเคย
กิเลสเอย ตัณหาเอย ควรละวาง
๐ อยู่กันแบบ พอเพียง ก็เพียงพอ
การร้องขอ เกินไป ออกให้ห่าง
เดินตามธรรม มีธรรม เป็นแนวทาง
ตามแบบอย่าง พระอาจารย์ ท่านทำมา
๐ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เป็นตัวอย่าง
ท่านได้สร้าง แบบไว้ ให้ศึกษา
ตามหลักธรรม ขององค์ พระสัมมา
ใช้ปัญญา มีสติ และตริตรอง
๐ ทำสิ่งใด ให้รู้ อยู่แก่จิต
ถูกหรือผิด สิ่งใด ใจเศร้าหมอง
เดินตามธรรม นำทาง ตามครรลอง
ให้ถูกต้อง ตามธรรม พระสัมมา…
…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๗ มิถุนายน ๒๕๖๕…