…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๑๒…
…ฝากสายลม ผ่านร่มไม้ จากชายน้ำ บันทึกเรื่องราวความรู้สึกนึกคิดของจิตวิญาณ ผ่านกาลเวลาแห่งช่วงอารมณ์ มันคือปัจจุบันธรรม อันเป็นธรรมชาติของจิตที่แท้จริงที่เราควรคิดพิจารณา
…“ทำให้ดู อยู่ให้เห็น สอนให้เป็นแล้วก็ปล่อย” สิ่งนี้เป็นคติธรรมที่ใช้ในการสอนศิษย์และคนใกล้ชิดทั้งหลาย เพื่อที่จะได้รู้พื้นฐานความคิดและจิตสำนึกของเขาเหล่านั้นว่าเขามีพื้นฐานเป็นอย่างไร โดยการกระทำทางกายให้เห็น ทำให้เป็นตัวอย่าง ไม่ต้องกล่าวไม่ต้องสอนด้วยวาจาในเบื้องต้น
…บุคคลผู้มีจิตสำนึกที่ดี เขาจะจดจำแบบอย่างที่ดีที่เขาได้เห็นเอามาเป็นตัวอย่าง แล้วลงมือกระทำตามส่วนบุคคลที่มีจิตสำนึกปานกลางเขาจะจดจำแบบอย่าง แต่ยังไม่ลงมือกระทำ ส่วนคนที่มีจิตสำนึกต่ำเขาจะไม่จดจำ ไม่สนใจและไม่เอาไปเป็นแบบอย่าง เรียกว่าการสอนโดยไม่ต้องสื่อภาษาทางวาจา แต่เป็นการกระทำทางกายให้เห็น
…เมื่อเรารู้พื้นฐานความคิดจิตสำนึกของเขาแล้ว เราจะได้กำหนดบทบาทและหากุศโลบายที่จะมาใช้ให้เหมาะกับบุคคลเหล่านั้น เรื่องเหล่านี้เป็นหลักจิตวิทยาที่ง่ายๆ แต่บางครั้งเรานั้นอาจจะมองข้ามไป ไม่ได้นำมาใช้และพิจารณา ซึ่งส่วนใหญ่เราจะใช้การแสดงออกทางวาจาเพื่อเสาะหาข้อมูล ความคิดและจิตสำนึกของผู้อื่น มิได้สังเกตพฤติกรรมของเขา
…การใช้วาจานั้น เราสามารถที่จะปั้นแต่งและจินตนาการออกมาเป็นคำพูดได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการศึกษาและสำนวนโวหาร ประสบการณ์ในการพูดของเขาที่ออกมา บางครั้งมันเป็นมายามิใช่ของจริงเสมอไปแต่พฤติกรรมทางกายที่เขาเคยชินนั้น มันจะแสดงถึงตัวตนที่แท้จริงของเขาออกมา…
…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕…