…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๓๑…
…จิตสำนึกแห่งคุณธรรม…
… มนุษย์ทุกคนมีความคิดถูกหรือผิดต่างรู้อยู่แก่ใจแต่ที่ยังกระทำลงไปในสิ่งผิดเป็นเพราะว่าขาดจิตสำนึกแห่งคุณธรรม ที่จะหักห้ามใจมิให้กระทำผิด
… จิตสำนึกต้องผ่านการฝึกฝนฝึกนึกฝึกคิดปรับจิตให้เป็นกุศลฝึกพูดในสิ่งที่เป็นมงคลแก่ตนเองและผู้อื่น ฝึกกระทำในสิ่งที่คิดและพูดที่เป็นความดี เพียรกระทำอย่างนี้อย่างสม่ำเสมอ จนเกิดเป็นความเคยชินและติดเป็นนิสัย
… จิตสำนึกแห่งคุณธรรมที่ว่านั้นคือความรู้สึกละอายและเกรงกลัวต่อบาป และเมื่อเราไม่กล้าทำบาปเราจะทำความดี คนที่ทำความดีนั้นจิตใจจะอ่อนโยนมีเมตตา รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ ละความเห็นแก่ตัวลงไปได้ตามสภาวะ
… การปฏิบัติธรรมนั้น สิ่งที่ได้มาคือคุณธรรม ภูมิธรรมและภูมิปัญญาเรามิได้ฉลาดขึ้น แต่เราได้เห็นความโง่ของตัวเองมากขึ้น เห็นในสิ่งที่เรายังไมรู้และเห็นในสิ่งที่เรายังหลงติดอยู่
…เรามิได้เก่งกล้า แต่เราได้เห็นความอ่อนแอและความขี้ขลาดหวาดกลัวเราทำเป็นกล้านั้นเพราะว่าเรากลัวเพราะกลัวจึงทำให้กล้าอย่าเชื่อทันทีที่รู้ ที่เห็น ที่ได้ยิน ได้ฟังมาเพราะว่าสิ่งนั้นมันจะนำไปสู่ความงมงาย อย่าปฏิเสธในทันทีมันจะเสียประโยชน์..จงพิจารนาไตร่ตรอง ทดลองพิสูจน์ให้ชัดแก่ใจ แล้วจึงตัดสินใจ เชื่อหรือปฏิเสธ…
…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวีสัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๕…