ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๕๒

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๕๒…

…อนุวิจฺจการํ กโรหิ…
“จงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงค่อยทำ”
…พุทธสุภาษิต อุปาลีวาทสูตร ๑๓/๖๒….

…“นิ่งไม่เป็น โง่ไม่เป็น เป็นใหญ่ยาก”เพราะบางครั้งที่เราแสดงความคิดอวดฉลาดอวดรู้ออกไปนั้น มันเป็นการเอาความโง่ของเราออกมาประจานตัวเราเอง คำพูดและการกระทำ มันสามารถที่จะนำมาวิเคราะห์ว่าเขาเป็นอย่างไร ภูมิธรรมภูมิปัญญาระดับไหน มาจากความจริงใจหรือว่าเป็นมายา เมื่อเรานิ่งสงบย่อมจะมีเวลาที่จะที่ตั้งสติและมีสมาธิในการคิดพิจารณา ศีล สมาธิ ปัญญา คือแนวทางของการแก้ปัญหาทุกอย่างของชีวิต…

….แด่ความนิ่งสงบที่จะสยบความเคลื่อนไหว…

….ชีวิตนี้ยังมีหนทางไป…

๐ ฟ้าครึ้ม ยามฝนพรำ
เมฆหมอกดำ ปกคลุมฟ้า
ม่านเมฆ หมอกมายา
ปกคลุมฟ้า ให้มืดมน

๐ เปรียบเป็น เช่นชีวิต
เมื่อความคิด เริ่มสับสน
จิตใจ นั้นกังวล
จิตสับสน ไร้หนทาง

๐ มืดไป ทั้งแปดด้าน
ความคิดอ่าน นั้นเลือนราง
สับสน ในหนทาง
มองทุกอย่าง เป็นทางตัน

๐ เพราะใจ นั้นยึดถือ
จิตทั้งดื้อ และทั้งรั้น
ไม่ลด ละเลิกมัน
ในตัวฉัน และตัวกู

๐ อัตตา พาให้ทุกข์
ใจไม่สุข อย่างเป็นอยู่
ตัวกู และของกู
จิตนั้นรู้ แต่ไม่วาง

๐ ยิ่งถือ ก็ยิ่งทุกข์
ไร้ซึ่งสุข ในทุกทาง
ถือไป ไม่ยอมวาง
จิตก็ห่าง ทางสบาย

๐ วางใจ ให้หยุดนิ่ง
จะเห็นจริง ในความหมาย
เห็นจิต และเห็นกาย
รู้ความหมาย สัจธรรม

๐ รู้กาย และรู้จิต
รู้ความคิด ที่เลิศล้ำ
รู้เห็น สัจธรรม
จิตจะนำ สู่ความดี

๐ ความดี ของชีวิต
อยู่ที่จิต คิดถ้วนถี่
คิดดี และทำดี
เพียงเท่านี้ ก็ดีเอง….

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๕ กันยายน ๒๕๖๕…