…ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๓…
…เยาวชน คือฐานรองรับของมวลมนุษย์ การพัฒนาของเยาวชนนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำเพื่อที่จะชี้นำเยาวชนเหล่านั้นไปสู่ทิศทางที่ดี จึงจำเป็นต้องมีแนวทางและแบบอย่างที่ดีในการที่จะให้เยาวชนนั้นได้เรียนรู้และดูเป็นแบบอย่างซึ่งจะมีหลักในการสอนการชี้แนะหลักๆอยู่ ๗ ประการคือ
๑. สอนให้รู้จักหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี
๒. สอนให้รู้จักการใช้ชีวิตรวมหมู่และอยู่ในสังคมอย่างมีระเบียบวินัย
๓. พยายามสร้างแรงจูงใจในการใฝ่ความรู้และความคิดจิตสร้างสรรค์
๔. สร้างความเชื่อมั่นให้แก่เขาเองให้เขามุ่งมั่นพัฒนาตัวเขาเองให้เต็มศักยภาพ
๕. ปรับทัศนคติและค่านิยมของเขาให้รู้จักการใช้เหตุและผล
๖. กระตุ้นให้เขามีความกระตือรือร้นตื่นตัวทุกเวลามีความพร้อมที่จะทำงานทุกเมื่อ
๗. สอนให้เขารู้จักการแก้ปัญหาและพึ่งพาตนเองก่อนที่จะไปหวังพึ่งผู้อื่น…
๐ ร้อยเดือน ร้อยดวงดาว
ร้อยเรื่องราว มาเล่าขาน
บอกเล่า มายาวนาน
ตลอดกาล ที่ผ่านมา
๐ สอดแทรก ซึ่งธรรมะ
เป็นสาระ ให้ศึกษา
แนวทาง ภาวนา
เห็นคุณค่า ในทางธรรม
๐ ทางธรรม นำชีวิต
ชี้ถูกผิด มีแบบนำ
บำเพ็ญ กุศลกรรม
เพราะมีธรรม นั้นนำทาง
๐ นำทาง เพื่อสร้างจิต
ทางชีวิต ที่สว่าง
รู้ลด และละวาง
ให้ออกห่าง จากอัตตา
๐ อัตตา และมานะ
ควรลดละ ต้นปัญหา
ที่ยึด และถือมา
ต้นปัญหา แห่งบาปกรรม
๐ บาปกรรม เกิดจากจิต
ที่คิดผิด เข้าครอบงำ
ก้าวสู่ ความมืดดำ
จิตตกต่ำ กรรมจึงมา
๐ ทุกข์กาย และทุกข์จิต
ทุกข์เพราะผิด จิตใฝ่หา
ความสุข ในกามา
ทุกข์เพราะว่า ออกห่างธรรม
๐ ดูกาย และดูจิต
ดูความคิด ที่ครอบงำ
ดูสิ่ง ที่เราทำ
ดูแล้วนำ มาใคร่ครวญ
๐ ถูกผิด จิตนั้นรู้
ถ้าตามดู ในทุกส่วน
รู้ควร และไม่ควร
รู้ในส่วน ที่ควรทำ….
…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕…