ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๖๖

…ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๖๖…

…บางครั้งเราต้องละทิ้งรูปแบบตามพยัญชนะ มาเน้นสาระในเรื่องความหมายความเข้าใจให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมะทั้งหลายเพื่อให้ฟังแบบสบายๆ ไม่เกร็งไม่เคร่งและไม่เครียด ในการสนทนาธรรม จึงเป็นที่มาของคำว่า “ไร้รูปแบบ แต่ไม่ไร้สาระ” คือการถ่ายทอดธรรมะเพื่อให้ง่ายแก่การเข้าใจโดยไม่ยึดติดในรูปแบบ ซึ่งทุกอย่างต้องใช้การคิดและพิจารณา ไตร่ตรอง ใคร่ครวญทบทวน อยู่ตลอดเวลา ปรับเข้าหาหลักธรรมะเพื่อความเหมาะสมมองทุกสิ่งทุกอย่างรอบกายให้เป็นธรรมะ ใช้หลักแห่งความเป็นจริงตามหลักของธรรมชาติโดยการลดละซึ่งอัตตาและคติไม่เอาความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาใช้ในการคิดและวิเคราะห์แล้วเราจะเข้าถึงสภาวะแห่งธรรมะที่แท้จริง…

…ร้อยเรียง ตัวอักษร
เป็นกาพย์กลอน ให้ศึกษา
เสริมสร้าง ทางปัญญา
เพื่อรักษา ความเป็นไทย

…สอดแทรก ข้อธรรมะ
เพื่อที่จะ ได้เข้าใจ
เพื่อคิด และแก้ไข
เพื่อให้ใจ นั้นมีธรรม

…เอาธรรม นั้นนำทาง
เพื่อออกห่าง ไม่ใฝ่ต่ำ
ออกจาก สิ่งครอบงำ
ของอธรรม ที่คุกคาม

…ให้ใจ ได้พบสุข
ออกจากทุกข์ พยายาม
น้อมนำ แล้วทำตาม
ทำให้งาม เดินตามธรรม

…ตามธรรม พระสัมมาฯ
นั้นมีค่า ที่เลิศล้ำ
ก่อเกิด กุศลกรรม
เพราะมีธรรม นั้นคุ้มครอง

…ธรรมะ คุ้มครองจิต
ไม่พลาดผิด จิตไม่หมอง
ถูกต้อง ตามครรลอง
ธรรมคุ้มครอง ไม่หมองมัว

…ทุกอย่าง เริ่มที่จิต
คือฝึกคิด ฝึกดูตัว
ระลึก รู้ให้ทั่ว
อย่าได้กลัว จงน้อมนำ

…ทำดี นั้นไม่ยาก
ทำได้มาก ถ้าจะทำ
ทำดี กุศลกรรม
บุญจะนำ ส่งผลดี

…ดีนอก และดีใน
ดีทั่วไป ในทุกที่
คิดดี และทำดี
ก็จะมี ความสุขใจ

…ความสุข เกิดจากธรรม
นั้นเลิศล้ำ กว่าสุขใด
ความสุข เกิดที่ใจ
สุขเรื่อยไป ในทางธรรม…

…ปรารถนาดีด้วสไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๑๙ กันยายน ๒๕๖๕…