เรียงร้อยธรรมไปตามกาล บทที่ ๑๑

…เรียงร้อยธรรมไปตามกาล บทที่ ๑๑…

…มากมายหลายข่าวสารที่มีการนำเสนอกันมา คิดถึงสุภาษิตบทหนึ่งขึ้นมา เป็นโพธิสัตว์คาถาที่ว่า…

“อนยํ นยติ ทุมฺเมโธ อธุรายํ
นิยุญํํชติ ทุนฺนโย เสยฺยโส โหติ
สมฺมา วุตฺโต ปกุปฺปติ วินยํ โส
น ชานาติ สาธุ ตสฺส อทสฺสนํ”

แปลความว่า “คนพาลชอบชักนำในทางที่ผิด คนพาลมักทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ คนพาลมักเห็นผิดเป็นชอบคนพาลแม้พูดดีๆก็โกรธ คนพาลไม่ยอมรับระเบียบวินัย ดังนั้น การไม่พบเห็นคนพาลจึงเป็นการดี”
…โพธิสัตว์คาถา อกิตติชาดก ๒๗/๓๓๗…

…ฉะนั้นในการรับฟังข่าวสารทั้งหลายจงใช้จิตพิจารณา ใคร่ครวญไตร่ตรองเสียก่อน จึงจะเชื่อหรือปฏิเสธ

“ถ้าเชื่อทันที เรียกว่างมงายถ้าปฏิเสธทันที เรียกว่าขาดประโยชน์ควรพิจารณา ไตร่ตรอง ให้รอบคอบควรทดลองพิสูจน์ฝึกฝนที่ใจตนให้เกิดความกระจ่างชัดเจนขึ้นด้วยใจตน แล้วจึงเชื่อ หรือปฏิเสธในสิ่งที่รับรู้นั้น มันจะทำให้เราไม่งมงายและไม่ขาดประโยชน์”

…กระจกหกด้าน…

๐ มองอะไร มองไป ให้ทุกด้าน
อย่ามองผ่าน จงพินิจ และคิดใหม่
มองทั้งดี ทั้งร้าย คู่กันไป
มองโดยใช้ เหตุผล เป็นต้นทุน

๐ ใช้เหตุผล หักล้าง ในทางก่อ
แล้วเติมต่อ ใช้ธรรมะ มาเกื้อหนุน
ละความชอบ ส่วนตัว มาเป็นทุน
คิดถึงบุญ กุศล เป็นหนทาง

๐ สมเด็จโต กล่าวไว้ ในครั้งก่อน
ท่านได้สอน ให้มอง ทั้งสองอย่าง
เอากระจก หกด้าน เป็นแนวทาง
มองทุกอย่าง ให้เห็น ความเป็นจริง

๐ เมื่อเห็นธรรม เข้าใจธรรม จงทำต่อ
ธรรมนั้นหนอ จะประสาน ในทุกสิ่ง
สัจธรรม นั้นหรือ คือความจริง
สรรพสิ่ง คือธรรม ที่นำทาง

๐ มองทุกสิ่ง เป็นธรรม นำความคิด
มองทั้งถูก และผิด เป็นแบบอย่าง
มองให้เห็น มองให้รอบ ไปทุกทาง
มองทุกอย่าง โดยสติ แล้วตริตรอง

๐ ในโลกนี้ มีทั้งมืด และสว่าง
ทั้งสองอย่าง คิดไว้ ในสมอง
ก่อนจะทำ ควรคิด และตริตรอง
อย่าได้ลอง ทำไป ใช้อารมณ์

๐ จงครวญคิด พินิจ และศึกษา
ไตร่ตรองมา ให้เห็น เป็นเหมาะสม
อย่าทำไป ด้วยว่า ค่านิยม
จงชื่นชม คุณธรรม ทำให้ดี

๐ ตามจังหวะ เวลา และโอกาส
อย่าประมาท ทำไป ให้ถูกที่
ถูกบุคคล ถูกสถาน ถูกวิธี
จงทำดี ให้ถูกดี จะดีเอย…

… ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
….รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม….
…๑๒ มีนาคม ๒๕๖๕…

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *