เรียงร้อยธรรมไปตามกาล บทที่ ๕๙

…เรียงร้อยธรรมไปตามกาล บทที่ ๕๙…

…ว่าด้วย “กาลามสูตร”…

…มีสติระลึกรู้อยู่กับกายและจิตพยายามคิดและมองทุกอย่างให้เป็นธรรมะ ระลึกถึงหัวข้อธรรมในหมวดต่าง ๆ เพื่อนำมาสงเคราะห์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์คือสิ่งที่กำลังกระทำอยู่ เพื่อให้เป็นธรรมะสัปปายะคือการเลือกเฟ้นธรรมให้เหมาะสมกับจังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และตัวบุคคล ทุกอย่างนั้นไม่มีอะไรดีที่สุด มีเพียงความเหมาะสมที่สุดตามเหตุและปัจจัย นี้คือความเป็น “อนิจจังและอนัตตาของธรรมทั้งหลายทั้งปวง”

…ธรรมะทั้งหลายเป็นสัจธรรมแต่ที่ไม่เที่ยงและไม่ใช่ตัวตนคือการปรับใช้ที่ต้องแปรเปลี่ยนไปเพื่อให้เหมาะสมกับเหตุและปัจจัยที่เห็นและเป็นอยู่ ซึ่งถ้าเราไม่รู้จักปรับใช้ให้เหมาะสม มันก็จะกลายเป็น “สีลัพตปรามาส” คือการยึดถือในข้อวัตรที่เคร่งครัดสุดโต่งจนเกินไปกลายเป็นการยึดถือเพราะอัตตาซึ่งจะนำมา ซึ่งมานะทิฏฐิ คือการถือตัวถือตนในโอกาสต่อไป

…พุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาของเหตุและผล ซึ่งจะพิสูจน์ได้ด้วยการกระทำ ไม่ใช่ศาสนาที่เป็นเรื่องของศรัทธา ที่สอนให้เชื่อแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งมีพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้แก่ชาวกาลามะหมู่บ้านเกสปุตติยนิคมคือ “กาลามสูตร” อันเป็นหลักแห่งความเชื่อ ไม่ให้เชื่ออย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดีก่อนที่จะเชื่อ…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๙ เมษายน ๒๕๖๕…

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *