รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๑๙

…รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๑๙…

…พิจารณาทบทวนในสิ่งที่ผ่านมาคุณค่าของวันเวลาที่ผ่านไป สอนให้เราได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นอีกมากมายควบคุมความรู้สึกต่ออารมณ์กระทบทั้งหลายได้เร็วขึ้น มีสติและสัมปชัญญะมากกว่าอดีตที่ผ่านมา กาลเวลาสอนให้ระลึกนึกคิด รู้ถูกผิด ผิดชอบชั่วดีมีการเจริญเมตตาจิตเพิ่มขึ้นจากการที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติและสรรพสัตว์รอบกาย ดำเนินชีวิตไปตามบทบาทและหน้าที่ด้วยการมีสติและสัมปชัญญะควบคุมอยู่

…การหมั่นฝึกคิดพิจารณาทุกอย่างให้เป็นธรรมนั้น ช่วยให้ละวางได้อย่างมาก โดยการฝึกคิดพิจารณาเข้าหากฎของพระไตรลักษณ์ เห็นถึงความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่งทั้งหลายรอบกาย ความแปรเปลี่ยนไปไม่เที่ยงแท้ยึดถือไม่ได้และรู้ถึงสภาวธรรมที่เกิดขึ้นเมื่อจิตเข้าไปยึดถือก็ทำให้เกิดทุกข์จิตก็ปล่อยวางทุกอย่างเป็นไปตามกฎของพระไตรลักษณ์ สิ่งนั้นคือความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา…

๐ เมื่อใจทุกข์ จงมอง ประคองจิต
ดูความคิด ดูจิต ที่เศร้าหมอง
จงพินิจ ใคร่ครวญ และตริตรอง
เพียรเฝ้ามอง ให้เห็น ความเป็นจริง

๐ สรรพสิ่ง ล้วนตั้ง อยู่ในหลัก
พระไตรลักษณ์ คือหลัก สรรพสิ่ง
พระไตรลักษณ์ คือหลัก แห่งความจริง
สรรพสิ่ง ไม่เที่ยงแท้ และแน่นอน

๐ มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับ
เปลี่ยนสลับ กันไป เป็นคำสอน
อนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ และแน่นอน
ทุกข์ราญรอน เพราะใจ ไปยึดมัน

๐ ไม่ยอมลด ยอมละ ซึ่งความอยาก
ต้องการมาก ยึดติด ไม่แปรผัน
ไม่อยากสูญ ไม่อยากเสีย อยากได้มัน
ทุกสิ่งนั้น ล้วนเป็น อนัตตา

๐ นี่เป็นกฎ ธรรมชาติ พระไตรลักษณ์
นี้คือหลัก ของพุทธะ ศาสนา
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ใช้ปัญญา มองให้เห็น ความเป็นจริง

๐ เข้าใจโลก ก็เห็นธรรม เมื่อนำคิด
ทำให้จิต นั้นสงบ และหยุดนิ่ง
เพราะได้รู้ ได้เห็น ความเป็นจริง
สรรพสิ่ง มันเป็น เช่นนั้นเอง….

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม…
…๒๐ มีนาคม ๒๕๖๕…

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *