จากการเดินทางบนสายธรรม บทที่ ๔๐

…จากการเดินทางบนสายธรรม บทที่ ๔๐…

…กาลเวลาแห่งชีวิตที่เราลิขิตได้…

…ห่างเหินใช่เหินห่าง
ระยะทางนั้นยาวไกล
สัญจรร่อนเร่ไป
สู่สิ่งใหม่ในหนทาง

…มีพบย่อมมีจาก
กรรมจำพรากให้เหินห่าง
วางใจให้เป็นกลาง
ทุกสิ่งอย่างจะเข้าใจ

…เข้าใจในชีวิต
เมื่อตั้งจิตคิดแบบใหม่
ผ่านมาให้แล้วไป
ตั้งต้นใหม่ใจมั่นคง

…ทางเดินของชีวิต
อยู่ที่จิตคิดนำส่ง
ศรัทธาต้องยืนยง
และมั่นคงในหลักการ

…จังหวะและเวลา
โอกาสมาอย่าให้ผ่าน
คิดต่อก่อเป็นงาน
เพื่อสืบสานจินตนา

…ทุกคนย่อมมีฝัน
อยากพบวันปรารถนา
ก้าวผ่านกาลเวลา
เรียนรู้ค่าประสพการ

…ฝันไว้ไปให้ถึง
คิดคำนึงตามหลักฐาน
ก้าวไปในสายธาร
แม้นยาวนานอย่าท้อใจ

…รางวัลของชีวิต
ผ่านถูกผิดอยู่ร่ำไป
สิ่งหวังและตั้งใจ
คงไม่ไกลถ้ายังเดิน

…เดินไปในทางฝัน
จิตสร้างสรรค์น่าสรรเสริญ
ทำใจให้เพลิดเพลิน
ความเจริญจะตามมา

…คิดดีและทำดี
ในสิ่งที่มีเนื้อหา
เชื่อมั่นและศรัทธา
ความก้าวหน้าจะมาเอง…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๔…

จากการเดินทางบนสายธรรม บทที่ ๓๙

…จากการเดินทางบนสายธรรม บทที่ ๓๙…

๐ โลกธรรม นำมา ซึ่งความทุกข์
อยากจะสุข จึงดิ้นรน และขวนขวาย
เพื่อโอ้อวด แข่งขันไป ให้มากมาย
บทสุดท้าย ก็คือกฎ อนิจจัง

๐ ทั้งลาภยศ สรรเสริญ เพลินในสุข
ทำให้ทุกข์ ตามมา ในภายหลัง
เมื่อเสื่อมยศ เสื่อมลาภ ให้ล้มพัง
มีคนชัง ไม่สรรเสริญ และเยินยอ

๐ กินกามเกียรติ กอบโกย จึงโหยหา
ให้ได้มา ในสิ่ง ที่ร้องขอ
เพราะความที่ อยากได้ ไม่รู้พอ
จึงเกิดก่อ ความทุกข์ ไม่สุขใจ

๐ ความสำเร็จ ของชีวิต ที่คิดหา
คือทรัพย์สิน เงินตรา นั้นหาไม่
ความสำเร็จ ของชีวิต อยู่ที่ใจ
บอกว่าพอ เมื่อไหร่ ก็ใช่เลย

๐ เมื่อมุ่งหวัง มาเป็น สมณะ
เพื่อลดละ ทุกสิ่ง ไม่นิ่งเฉย
ทั้งอัตตา ตัวตน ที่คุ้นเคย
กิเลสเอย ตัณหาเอย ควรละวาง

๐ อยู่กันแบบ พอเพียง ก็เพียงพอ
การร้องขอ เกินไป ออกให้ห่าง
เดินตามธรรม มีธรรม เป็นแนวทาง
ตามแบบอย่าง พระอาจารย์ ท่านทำมา

๐ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เป็นตัวอย่าง
ท่านได้สร้าง แบบไว้ ให้ศึกษา
ตามหลักธรรม ขององค์ พระสัมมา
ใช้ปัญญา มีสติ และตริตรอง

๐ ทำสิ่งใด ให้รู้ อยู่แก่จิต
ถูกหรือผิด สิ่งใด ใจเศร้าหมอง
เดินตามธรรม นำทาง ตามครรลอง
ให้ถูกต้อง ตามธรรม พระสัมมา…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม…
…๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๔…

บอกกล่าว เล่าเรื่อง บทที่ ๔

…บอกกล่าว เล่าเรื่อง บทที่ ๔…

…การพูดหรือการแสดงออกทางกายนั้นบางครั้งทำให้เรารู้ถึงความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของเขา เพราะคำพูด สีหน้าแววตา มันสื่อถึงความรู้สึกภายในของเขาซึ่งถ้าเราเป็นผู้ฟังหรือคู่สนทนา ควรที่จะสังเกตในอาการเหล่านั้น เพราะการพูดนั้นมันสื่อให้รู้ถึงภูมิปัญญาของผู้พูดว่ารู้จริงหรือไม่หรือว่าได้แต่พูดโดยไม่รู้จริง

อ่านเพิ่มเติม “บอกกล่าว เล่าเรื่อง บทที่ ๔”

คิดไป เขียนไป บทที่ ๔

…คิดไป เขียนไป บทที่ ๔…

…ในอ้อมกอดของขุนเขา
ใต้ร่มเงาของมวลพฤกษา
บนจุดหนึ่งของกาลเวลา
จงมีสติเตือนตนเสมอว่า
มีความปรารถนาซึ่งสิ่งใด
ทบทวนสิ่งที่ได้ผ่านมาใหม่
ว่าสิ่งที่ตั้งความหวังไว้ในใจ
สิ่งนั้นก้าวไกลถึงไหนแล้ว

…ทุกชีวิตย่อมมีจุดหมาย
อย่าปล่อยให้ผ่านไปโดยไร้ค่า
อย่าปล่อยวันเวลาให้สูญเปล่า
ชีวิตเรานั้นควรจะมีเป้าหมาย
ฝันนั้นอาจจะตั้งไว้ไม่ไกล
แต่เรานั้นต้องเดินไปให้ถึง
ทำซึ่งความฝันนั้นให้เป็นจริง
ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินจะกระทำ

…หนทางสู่ความสำเร็จนั้น
อาจจะยังอยู่อีกยาวไกล
แต่จงอย่าได้หวั่นไหวท้อใจ
ขอเรามีความตั้งใจที่มั่นคง
เดินในเส้นทางที่ตรงสู่ความฝัน
ระยะทางสู่ความสำเร็จนั้น
มันย่อมสั้นลงมาทุกขณะ
อย่าไปสนใจในระยะของเส้นทาง

…ทุกอย่างย่อมจะมีความสำเร็จได้ ถ้าหากเรานั้นมีความตั้งใจและพยายามเดินตามความฝันของเรานั้นต่อไปไม่ท้อถอยหรือหวั่นไหวกับอุปสรรคปัญหามีความศรัทธาและเชื่อมั่นในความดีที่กระทำสิ่งนั้นย่อมจะนำไปสู่ความสำเร็จของชีวิตในสิ่งที่ตนคิดและกิจที่ตนนั้นปรารถนาเพราะว่าความสำเร็จของชีวิต…อยู่ที่จิตคิดว่าพอ…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๕…

จากการเดินทางบนสายธรรม บทที่ ๓๘

…จากการเดินทางบนสายธรรม บทที่ ๓๘…

๐ มองอะไร มองไป ให้ทุกด้าน
ธรรมประสาน ในจิต เพื่อคิดใหม่
มองทั้งดี ทั้งร้าย คู่กันไป
มองโดยใช้ เหตุผล เป็นต้นทุน

๐ ใช้เหตุผล หักล้าง ในทางก่อ
แล้วเติมต่อ ใช้ธรรมะ มาเกื้อหนุน
ละความชอบ ส่วนตัว ที่เจือจุน
คิดถึงบุญ กุศล เป็นหนทาง

๐ สมเด็จโต กล่าวไว้ ในครั้งก่อน
ท่านได้สอน ให้มอง ทั้งสองอย่าง
เอากระจก หกด้าน เป็นแนวทาง
มองทุกอย่าง ให้เห็น ความเป็นจริง

๐ เมื่อเห็นธรรม เข้าใจธรรม จงทำต่อ
ธรรมนั้นหนอ จะประสาน ในทุกสิ่ง
สัจธรรม นั้นหรือ คือความจริง
สรรพสิ่ง คือธรรม ที่นำทาง

๐ มองทุกสิ่ง เป็นธรรม นำความคิด
ทั้งถูกผิด ให้เห็น เป็นแบบอย่าง
มองให้เห็น มองให้รอบ ไปทุกทาง
มองทุกอย่าง โดยสติ แล้วตริตรอง

๐ ในโลกนี้ มีทั้งมืด และสว่าง
ทั้งสองอย่าง คิดไว้ ในสมอง
ก่อนจะทำ ควรคิด และตริตรอง
อย่าได้ลอง ทำไป ใช้อารมณ์

๐ จงครวญคิด พินิจ และศึกษา
ไตร่ตรองมา ให้เห็น เป็นเหมาะสม
อย่าทำไป ด้วยว่า ค่านิยม
จงชื่นชม คุณธรรม ทำให้ดี

๐ ตามจังหวะ เวลา และโอกาส
อย่าประมาท ทำไป ให้ถูกที่
ถูกบุคคล ถูกสถาน ถูกวิธี
จงทำดี ให้ถูกดี จงมีธรรม…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๔…

บอกกล่าว เล่าเรื่อง บทที่ ๓

…บอกกล่าว เล่าเรื่อง บทที่ ๓…

…ย้ำเตือนตนอยู่เสมอว่า จงเป็นเหมือนสายลมที่พัดผ่านกาลเวลา ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเมื่อใจไม่ไปยึดติดยึดถือ ความห่วงหาอาลัยก็ไม่มี อยู่กับสภาวะแห่งปัจจุบันธรรมตามวิถีที่เป็นไปในแต่ละวัน ทำหน้าที่ของเรานั้นให้สมบูรณ์ตามบทบาทและหน้าที่ที่เป็นอยู่จิตตามดู ตามรู้ ตามเห็นในความเป็นไปของกายและจิตมีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกายและจิตคิดให้เป็นกุศลวันเวลาก็จะผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็วเพราะใจเราไม่ไปยึดถือจิตโปร่งกายเบา ไม่ซึมเซา เพราะมีอารมณ์ธรรมแห่งปีติทรงอยู่ เรียนรู้และพิจารณาทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา…

อ่านเพิ่มเติม “บอกกล่าว เล่าเรื่อง บทที่ ๓”

คิดไป เขียนไป บทที่ ๓

…คิดไป เขียนไป บทที่ ๓…

…วันเวลาแห่งชีวิตลิขิตไปตามกฎแห่งกรรมสิ่งที่เราเคยได้กระทำมาในอดีตและปัจจุบันส่งผลมาสู่วันนี้ทั้งกรรมดีที่เป็นกุศลส่งผลให้พบสิ่งดีและกรรมที่เป็นอกุศลที่ส่งผลมาเป็นอุปสรรคปัญหา สิ่งที่ผ่านมานั้น แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว เพราะมันเป็นอดีต จงยืดอกยิ้มสู้ยอมรับในกฎแห่งกรรมที่ทำมา…

อ่านเพิ่มเติม “คิดไป เขียนไป บทที่ ๓”

จากการเดินทางบนสายธรรม บทที่ ๓๗

…จากการเดินทางบนสายธรรม บทที่ ๓๗…

…หลากหลายกิจที่ทำก็เพื่อสงเคราะห์โลกและธรรม สิ่งเหล่านั้นไม่ผิดต่อธรรมวินัย เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยกุศล สร้างคน สร้างงาน สร้างจิตสำนึก ประสานโลกและธรรมให้ก้าวเดินไปด้วยกัน

อ่านเพิ่มเติม “จากการเดินทางบนสายธรรม บทที่ ๓๗”

บอกกล่าว เล่าเรื่อง บทที่ ๒

…บอกกล่าว เล่าเรื่อง บทที่ ๒…

…วันเวลาผ่านไปกับสิ่งรอบกายทั้งภายนอกและภายในที่เราได้เจอะเจอ ล้วนแล้วแต่เป็นครูที่สอนให้เรารู้และเข้าใจในหลักธรรมทำให้นึกถึงคำกล่าวสอนเน้นย้ำของหลวงพ่อพุทธทาส ที่ท่านได้กล่าวอยู่เสมอ เกี่ยวกับเรื่อง “ตัวกู-ของกู” เพื่อเป็นการเน้นย้ำเตือนสติมิให้หลงลืม คือต้องรู้ต้องเข้าใจและทำให้ได้ โดยการมีสติและสัมปชัญญะ เตือนตนเตือนจิตอยู่ตลอดเวลา ดั่งที่เคยกล่าวไว้ว่า “กิเลสทั้งหลายนั้นยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น รัก โลภโกรธ หลง เพราะมันเป็นอาคันตุกะที่จรมา” เราต้องคอยเตือนสติระลึกอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้จิตเข้าไปยึดถือติดอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น…

อ่านเพิ่มเติม “บอกกล่าว เล่าเรื่อง บทที่ ๒”

คิดไป เขียนไป บทที่ ๒

…คิดไป เขียนไป บทที่ ๒…

…”ความเบื่อกับอยากเป็นของคู่กัน”เมื่อความอยากเกิดขึ้นจิตก็ดิ้นรนขวนขวายหาเหตุและปัจจัยมาสนองตอบความอยากถ้าสนองตอบตัณหาความอยากได้ จิตก็ยินดีถ้าไม่ได้ตามที่ปรารถนา จิตมันก็เกิดปฏิฆะและเมื่อเสพในความอยากจนเต็มที่แล้ว จิตมันก็จะเบื่อในอารมณ์นั้น ความอยากในสิ่งอื่นก็เข้ามาแทนที่ เป็นเช่นนี้เรื่อยมาคือ “อยากๆเบื่อๆแล้วก็เบื่อๆอยาก ๆ” ตามกิเลสตัณหาที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงของอารมณ์

อ่านเพิ่มเติม “คิดไป เขียนไป บทที่ ๒”