…บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๖๖…
…การปฏิบัติธรรม เป็นการทำเฉพาะตนตามกำลังความรู้ความสามารถของตนสภาวธรรมทั้งหลายเป็นของเฉพาะตนครูบาอาจารย์ท่านกล่าวเตือนสอนไว้ให้เรานั้น ดูตัวเราเอง ดูในข้อวัตรปฏิบัติของเรา ว่ามันเป็นอย่างไร ตึงเกินไปหรือว่าหย่อนยานเกินไป เพื่อแก้ไขปรับปรุงตัวเองให้มีความพอดี มีความเหมาะสมลงตัวกับ “เวลา จังหวะ โอกาส สถานที่ และบุคคล”
…ครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้ ห้ามมิให้เราเอาตัวเราหรือการประพฤติปฏิบัติของเราไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น เพราะมันอาจจะทำให้ก่อกิเลสเพิ่มขึ้นได้ หากเรานั้นไม่ระวังเผลอสติขาดสัมปชัญญะ เช่นถ้าเราเอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับผู้ที่ดีกว่า มันก็อาจจะเกิดความน้อยใจหรืออิจฉาริษยาขึ้นมาได้และถ้าเราไปเปรียบเทียบกับคนระดับเดียวกันมันก็อาจจะเกิดความคิดอยากขันแข่งให้ดีกว่าหรือเหนือกว่าเขาและถ้าเราไปเปรียบเทียบกับคนที่ด้อยกว่าหรือต่ำกว่ามันอาจจะเกิดความลำพอง หยิ่งผยองหลงตัวเองขึ้นมาได้
…เราต้องวางใจ วางจิตของเราไว้ในหลักธรรมคือ “พรหมวิหาร ๔” ในการศึกษาข้อวัตรการปฏิบัติของผู้อื่น สำหรับคนที่สูงกว่าดีกว่าเรานั้นเราต้องมี “มุทิตา” พลอยยินดีกับเขา ส่วนคนที่ต่ำกว่าด้อยกว่า เราควรมี “เมตตา กรุณา” ต่อเขาและคนที่เสมอกันเรานั้นควรมีความเคารพเขาและเมื่อช่วยเหลือเขาแล้ว เราต้องวางใจให้เป็น “อุเบกขา” คืออย่าไปหวังผลในการช่วยเหลือเขา เพียงทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ คนที่เราได้ช่วยเหลือนั้นจะดีขึ้นเหมือนเดิมหรือแย่ลง มันเป็นวิบากกรรมของเขา ถ้าเราไม่วางอุเบกขาแล้วมันก็จะเกิดปัญหาตามมา คือถ้าช่วยได้เขาสำเร็จเราก็จะดีใจและอาจหลงตัวเองไปได้ว่า “เราเก่ง เรามีความสามารถ” ซึ่งอาจจะทำให้เราหลงตัวเอง เพิ่ม “อัตตา” ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว และถ้าเราช่วยเขาแล้วมันไม่ดีขึ้นหรือไม่สำเร็จ เราอาจจะเสียใจน้อยใจ ขาดความเชื่อมั่นและทุกข์ใจขึ้นมาได้ เพราะใจเรานั้นยังไปข้องอยู่ไม่รู้จักการปล่อยวาง นี้คือแนวทางทางความคิดแห่งจิตนักปฏิบัติธรรม…
…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๔…