…บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๓…
…“กาลามสูตร” อันเป็นหลักแห่งความเชื่อที่สอนไม่ให้เชื่ออย่างงมงาย โดยไม่ใช้ปัญญา พิจารณาให้เห็นจริง ถึงคุณโทษหรือดีไม่ดีก่อนเชื่อ ซึ่งมีหลักอยู่ ๑๐ ประการคือ…
๑. อย่าเชื่อตามที่ฟัง ๆ กันมา
๒. อย่าเชื่อตามที่ทำต่อ ๆ กันมา
๓. อย่าเชื่อตามคำเล่าลือ
๔. อย่าเชื่อโดยอ้างตำรา
๕. อย่าเชื่อโดยนึกเอา
๖. อย่าเชื่อโดยคาดคะเนเอา
๗. อย่าเชื่อโดยนึกคิดตามแนวเหตุผล
๘. อย่าเชื่อเพราะถูกกับทฤษฎีของตน
๙. อย่าเชื่อเพราะรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้
๑๐. อย่าเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูอาจารย์ของตน
…คือหลักการสอนที่ให้ทุกคนคิดและพิจารณา ค้นคว้าและทดลองปฏิบัติ เพื่อความเห็นชัด คือสอนให้คิดเป็น ทำเป็น เพราะว่าการเชื่อในทันทีนั้น มันอาจจะนำไปสู่ความงมงายและความโง่ เพราะคิดเองไม่เป็น ต้องให้ผู้อื่นคิดให้หรือชี้แนะอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในชีวิตจริงนั้นเราต้องช่วยเหลือตัวของเราเองก่อนเสมอ คือต้องทำด้วยตัวของเราเองตลอดดั่งพุทธสุภาษิตที่ว่า “อัตตา หิอัตตา โน นาโถ…ตนเป็นที่พึ่งของตน” ผู้อื่นเป็นได้เพียงผู้ชี้แนะและนำทาง แต่การจะก้าวเดินไปข้างหน้าอยู่ที่ตัวเรา ว่าจะก้าวขาเดินตามไปหรือไม่ ซึ่งมันขึ้นอยู่กับตัวเรา ที่จะทำหรือไม่ทำ
…ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นคือของจริง เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ด้วยการศึกษาค้นคว้า แล้วนำมาปฏิบัติให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้นั้น ทันสมัยอยู่เสมอ…
…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
… ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔…