ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๐

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๒๐…

…สิ่งที่ควรกระทำนั้นต้อง ไม่เป็นภัยต่อชีวิตตนเอง ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้อื่นไม่ฝ่าฝืนพระธรรมวินัยและกฎระเบียบของสังคม เป็นไปตามความเหมาะสมของ จังหวะเวลา โอกาส สถานที่ บุคคล อยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล ปัจจัยองค์ประกอบทั้งหลาย เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยกุศลเป็นมงคลแก่ชีวิต จากสิ่งที่คิดและสิ่งที่ทำ นั้นคือความ “เรียบง่ายไร้รูปแบบ แต่ไม่ไร้สาระ” เป็นกิจที่สมณะนั้นควรคิดควรทำในการดำเนินชีวิต เพื่อพัฒนาทางจิตไปสู่ความสงบเพื่อความจางคลายของอัตตา กิเลส ตัณหาและอุปาทานทั้งหลาย…

…คนเหมือนกัน มันจึงเป็นเช่นนั้นเอง…

…คนเหมือนกัน แต่ต่างกัน ที่ความคิด
เพราะว่าจิต พื้นฐาน นั้นแตกต่าง
ต่างมีจุด เริ่มต้น คนละทาง
เกิดช่องว่าง ระหว่างจิต คิดต่างกัน

…ในความเห็น นั้นอาจ จะแตกต่าง
แต่มีทาง ที่จะร่วม สมานฉันท์
แสวงหา ซึ่งจุดร่วม มารวมกัน
จุดต่างนั้น สงวนไว้ ไม่ล้ำกัน

…ควรอ่อนน้อม ถ่อมตน ให้คนรัก
ควรรู้จัก การผูกจิต คิดสร้างสรรค์
ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมแบ่งปัน
สิ่งเหล่านั้น จะผูกมิตร และจิตใจ

…คนโบราณ กล่าวไว้ ให้น่าคิด
คนจะงาม งามที่จิต จึงสดใส
คนจะรวย ก็รวยที่ มีน้ำใจ
คนจะแก่ ใช่แก่วัย มีปัญญา

…สิ่งเหล่านั้น เราท่าน ต่างก็รู้
พบเห็นอยู่ แต่ไม่คิด ถึงเนื้อหา
เพียงผ่านหู ผ่านใจ และผ่านตา
ไม่นำมา พินิจ และคิดตาม

…คนมากมาย ที่รู้ธรรม และเห็นธรรม
แต่ไม่นำ ปฏิบัติ เพราะมองข้าม
เพียงแต่รู้ เพียงแต่เห็น แต่ไม่ตาม
เกิดคำถาม ว่าทำไม ไม่เจริญ

…ไม่เจริญ ในธรรม เพราะจำได้
รู้กันไป แต่ไม่ทำ ก็เคอะเขิน
รู้ท่วมหัว แต่ทำตัว ไม่เจริญ
เพราะรู้เกิน และรู้มาก จึงยากนาน

…รู้อะไร ก็ไม่สู้ เท่ารู้จิต
รู้ความคิด ทั้งดีชั่ว รู้แก่นสาร
รู้จังหวะ รู้เวลา รู้เหตุการณ์
รู้ด้วยญาณ นิมิต จิตถึงธรรม…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๓ สิงหาคม ๒๕๖๕…