ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๖๖

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๖๖…

…จิตระลึกถึงสุภาษิตบทหนึ่งขึ้นมาเป็นโพธิสัตว์คาถาที่ว่า…

…” อนยํ นยติ ทุมฺเมโธ อธุรายํ นิยุญํํชติ
ทุนฺนโย เสยฺยโส โหติ สมฺมา วุตฺโต ปกุปฺปติ
วินยํ โส น ชานาติ สาธุ ตสฺส อทสฺสนํ “…

…แปลความว่า…

” คนพาลชอบชักนำในทางที่ผิด
คนพาลมักทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ
คนพาลมักเห็นผิดเป็นชอบ
คนพาลแม้พูดดีๆก็โกรธ
คนพาลไม่ยอมรับระเบียบวินัย
ดังนั้น การไม่พบเห็นคนพาลจึงเป็นการดี “
…โพธิสัตว์คาถา อกิตติชาดก ๒๗/๓๓๗…

…การปฏิบัติธรรมตามธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่เราคิดว่ายากก็เพราะเราไม่รู้จักบทบาทและหน้าที่ของเรา ไม่รู้ตน ไม่รู้ประมาณ ไม่รู้กาลไม่รู้เวลา ว่าเราควรที่กระทำในสิ่งใดและอะไรที่เหมาะสมกับตัวของเราที่ควรจะกระทำ

…ความเป็นฆราวาสผู้ครองเรือนและสมณะนั้นแตกต่างกัน เราจึงต้องเลือกธรรมที่จะปฏิบัตินั้นให้เหมาะสมกับตัวของเรา แล้วความเจริญในธรรมจะเกิดขึ้นแก่เราอย่างรวดเร็ว…

…เจริญสติ ระลึกรู้ อยู่กับธรรม…

๐ มีสติ เตือนตน จึงพ้นผิด
กุศลจิต ชี้นำ ตามวิถี
กุศลกรรม นำสร้าง สู่ทางดี
ก่อเกิดมี คุณธรรม ประจำใจ

๐ เพียรเจริญ สติ ระลึกรู้
วางจิตอยู่ กับกาย ไม่ไปไหน
ระลึกรู้ ให้เห็น ทั้งนอกใน
ระลึกไป ให้รู้ทั่ว ทั้งตัวตน

๐ กำหนดรู้ รูปนาม ตามแบบอย่าง
ทุกก้าวย่าง กำหนดรู้ อยู่ทุกหน
มีสติ ระลึกรู้ อยู่กับตน
หมั่นฝึกฝน เจริญจิต ภาวนา

๐ หมั่นทบทวน ใคร่ครวญ เพ่งพิเคราะห์
ให้พอเหมาะ เหตุปัจจัย ในเนื้อหา
รู้ที่ไป เห็นที่ดับ รู้ที่มา
เกิดปัญญา เห็นธรรม ความเป็นจริง…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม…
…๑๙ กันยายน ๒๕๖๕…