…ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๘…
…มีผู้สงสัยเพราะไม่เข้าใจในความหมายของคำว่า “ใบลานเปล่า” และคำว่า “น้ำที่เต็มแก้ว” ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรซึ่งทั้งสองคำนี้เป็นการอุปมาอุปมัยถึงภูมิธรรมภูมิปัญญาของผู้ศึกษาและผู้ปฏิบัติธรรมมีความหมายเนื้อหาที่แตกต่างกันโดยลักษณะ ซึ่งพอจะอธิบายขยายความได้ดังนี้…
…”ใบลานเปล่า” คือผู้ศึกษาธรรม รู้ธรรมจำได้ แต่ยังไม่ได้ทำ ไม่ได้นำธรรมที่รู้ที่เข้าใจมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม เป็นเพียงการจำได้หมายรู้ ส่วน “น้ำที่เต็มแก้ว” นั้นหมายถึงผู้ที่ปฏิบัติธรรมตามที่รู้และเข้าใจ แต่ติดในรูปแบบที่ตนเองปฏิบัติและปฏิเสธแนวทางอื่นที่ไม่ตรงกับความคิดเห็นและการปฏิบัติธรรมของตนเองว่าไม่ถูกต้อง ไม่ใช่แนวทาง
…ถ้าถามว่าอย่างไหนแก้ไขยากกว่ากันก็ขอตอบว่า “น้ำที่เต็มแก้ว” นั้นแก้ไขยากกว่า เพราะเป็นไปโดยอัตตา การยึดถืออันประกอบด้วยมานะทิฏฐิ ต้องเทน้ำออกเสียก่อน จึงจะเติมของใหม่ลงไปได้คือต้องทำลายมานะทิฏฐิและอัตตาต้องทำให้มันว่างเสียก่อนแล้วจึงจะแก้ไข ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้
…ส่วน “ใบลานเปล่า” นั้น สามารถที่จะเขียนหรือจารึกอะไรลงไปได้ทันทีเพราะว่ามีความว่างอยู่แล้ว จะแก้ไขได้ทันที โดยการลงมือประพฤติปฏิบัติตามธรรมที่รู้ เข้าใจและจำได้ ซึ่งเป็นของง่าย เพียงแต่ลงมือปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมมีคำสอนของครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อนท่านกล่าวสอนเตือนใจไว้ว่า “ยากอะไรไม่ยากเท่าการปฏิสังขร ถอนอะไรไม่อยากเท่าถอนมานะ ละอะไรไม่ยากเท่ากับละทิฏฐิ” จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิดพิจารณากัน…
…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕…