ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๑๙

…ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๑๙…

…”ความสำเร็จของชีวิต อยู่ที่จิตคิดว่าพอ” คือพอเพียงและพอใจในสิ่งที่มีและในสิ่งที่เป็น พึงพอใจในอัตภาพของคนเองชีวิตที่เหลือคือการทำหน้าที่ของตนไปจนสิ้นอายุขัย ความสุขความสบายใจก็จะเกิดขึ้นแก่เขาเหล่านั้น เพราะว่าใจมันบอกว่า “พอแล้ว” …

…รำพึงธรรมคำกวีผ่านกาพย์ยานี ๑๑…

…ร้อยเรื่องก็ร้อยรส
นั้นปรากฏให้พบเห็น
ที่มีและที่เป็น
ล้วนแตกต่างกันออกไป

…ไม่เหมือนแต่ว่าคล้าย
ต่างจุดหมายกันภายใน
ต่างคนก็ต่างใจ
ล้วนคิดกันคนละทาง

…เกิดจากความคิดเห็น
จึงได้เป็นข้อแตกต่าง
อยู่ร่วมในเส้นทาง
ความขัดแย้งนั้นจึงมี

…ขัดแย้งทางความคิด
แบ่งถูกผิดในทุกที่
มิตรภาพที่เคยดี
ต่อกันนั้นสลายไป

…ความเห็นที่แตกต่าง
อาจมีทางร่วมกันได้
ถ้าหากเราเข้าใจ
ไม่ก้าวล้ำสิทธิกัน

…แสวงหาซึ่งจุดร่วม
เพื่อจะรวมสมานฉันท์
จุดต่างไม่ว่ากัน
สงวนไว้ไม่ล่วงเกิน

…ร่วมคิดและร่วมทำ
เพื่อจะนำให้เจริญ
ร่วมสร้างเส้นทางเดิน
สู่สังคมอุดมการณ์

…เริ่มต้นจากตัวเรา
แล้วจึงเอาไปเล่าขาน
ฝึกทำให้ชำนาญ
ฝึกนึกคิดทำจิตดี

…ดีนอกและดีใน
ดีทั้งใจและวจี
คิดทำแต่กรรมดี
ฝึกจิตนั้นให้มั่นคง

…มองโลกทั้งสองด้าน
มองให้ผ่านอย่าไปหลง
ซื่อสัตย์และซื่อตรง
ต่อหน้าที่ที่มีมา

…มีความรับผิดชอบ
ซึ่งประกอบด้วยปัญญา
ฝึกฝนและค้นหา
เหตุปัจจัยประกอบกัน

…เริ่มต้นจากความคิด
เริ่มจากจิตสมานฉันท์
เคารพสิทธิกัน
สังคมนี้ไม่วุ่นวาย…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒ สิงหาคม ๒๕๖๕…