…ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๓๔…
…ระลึกนึกถึงข้อธรรมคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล บทหนึ่งที่ท่านกล่าวไว้ว่า “การไม่กังวล การไม่ยึดถือ นั่นแหละคือวิหารธรรมของนักปฏิบัติ” เอามาเป็นข้อคิดและพิจารณาน้อมนำมาซึ่งการปฏิบัติตาม ทำให้เกิดความรู้และความเข้าใจในข้อธรรมนั้นๆ ตามกำลังของสติระลึกรู้ที่เราได้ฝึกฝนมาตามหลักธรรมที่ว่า “คิดเท่าไร ๆ ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิด จิตจึงรู้แต่ก็ต้องอาศัยความคิด ทำงานทุกชนิด ด้วยจิตที่ว่างจากอัตตาปัญญาก็จะเกิด” เป็นสิ่งที่ต้องหมั่นฝึกฝน ให้จนเป็นความเคยชินของจิตในการคิดและการทำงาน…
…พยายามใช้เวลาที่ผ่านไปนั้นให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ระลึกรู้อยู่กับกายและจิตยกข้อธรรมขึ้นมาทบทวนพิจารณาใคร่ครวญ ตัดปลิโพธฺความกังวลทั้งหลายออกไปชั่วขณะ ทำจิตนั้นให้ว่างจากอัตตา พิจารณาทุกอย่างตามความเป็นจริง ในสิ่งที่เห็นและสิ่งที่รับรู้ วางจิตให้นิ่ง ไม่เอาทั้งความรักความเกลียด ความพอใจและไม่พอใจ มาตัดสินในปัญหามีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกายและจิตอยู่ตลอดเวลา แยกแยะทั้งกุศลและอกุศลนั้นออกจากกันโดยการพิจารณาถึงคุณ ถึงโทษถึงประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ในสรรพสิ่งที่ได้เห็นและได้รับรู้เอามาเป็นครูสอนธรรม เตือนย้ำในจิตสำนึกอยู่ตลอดเวลา ให้ระลึกรู้ในสิ่งที่ควรคิดและกิจที่ควรทำตามบทบาทและหน้าที่ของตนเองที่พึงมี ทำหน้าที่ของเรานั้นให้สมบูรณ์ตามกำลังความรู้ความสามารถที่เรานั้นพึงมี ให้จิตของเรานี้ระลึกถึงธรรมอยู่ตลอดเวลาและเมื่อเรารักษาธรรม ธรรมนั้นจะกลับมารักษาคุ้มครองเรา…
…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไน้นาม…
…๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๕…