ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๖๒

…ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๖๒…

…”ทุกข์ไม่มา ปัญญาไม่มี บารมีไม่เกิด” เป็นคำสอนที่กล่าวกันมานานแล้วและเป็นความจริงมาตลอด เพราะว่ามนุษย์นั้นในยามที่มีความสุขมักจะหลงเพลิดเพลิน จนลืมคิดถึงธรรมดั่งที่เคยเขียนโศลกธรรมบทหนึ่งไว้ว่า…ตราบใดที่ยังมีหนทางไปใจย่อมไม่นึกถึงพระธรรม แต่เมื่อคุณชอกช้ำ พระธรรมนั้นคือที่พึ่งสำหรับคุณ และโศลกธรรมอีกบทหนึ่งที่เขียนไว้ว่า เมื่อยังไม่ถึงกาลเวลาที่เหมาะสม จิตย่อมเข้าไม่ถึงธรรม จึงยากที่จะอธิบายให้เข้าใจธรรมนั้นได้ จงอดทนรอให้เขามีความพร้อมจึงกล่าวธรรม

…เหตุที่ยกโศลกธรรมทั้งสองบทมากล่าวอ้างถึงก็เพราะว่า มีญาติโยมมาถามว่าทำไมไม่รับเทศน์ตามงานต่างๆที่เขานิมนต์ ก็ตอบญาติโยมไปว่าเทศน์ไม่เป็น เป็นได้แต่เพียงบรรยายธรรม เพราะว่าการเทศน์นั้นต้องมีรูปแบบและพิธีการ ซึ่งส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้นกลายเป็นเพียงกิจกรรมประกอบพิธี เพราะว่าผู้ที่มาฟังนั้นส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจที่จะมาฟังธรรมแต่จะมาเพื่อร่วมงานกับเจ้าภาพนั้นเป็นส่วนใหญ่ แต่งานบรรยายธรรมนั้นมันบอกชัดว่าคนที่มานั้นต้องมาฟังธรรมคือคนที่ไม่พร้อมก็จะไม่มา

…การกล่าวธรรมจึงมีประโยชน์กว่าเพราะว่าผู้ฟังมีความตั้งใจและใคร่ที่จะฟังซึ่งมันตรงกับลักษณะอุปนิสัยของเราคือ…ไร้รูปแบบ แต่ไม่ไร้สาระธรรมะที่ไร้รูปแบบ เรียบง่ายแต่ไม่ใช่มักง่าย…จะเน้นเป็นรายบุคคลที่เขาสนใจและเข้ามาหาเพื่อปรึกษาและขอคำแนะนำ เพราะว่าแต่ละคนนั้นมีภูมิธรรมที่แตกต่างกัน ปฏิบัติมาไม่เหมือนกัน จะไม่ใช้การบรรยายแบบเหวี่ยงแห แต่จะเน้นเป็นรายบุคคล ซึ่งจะได้ผลที่แตกต่างกันมาก

…เพราะได้สรุปมาจากการที่เคยเป็นพระนักเทศน์มาระยะหนึ่งและได้หยุดรับงานเทศน์ รับแต่งานบรรยายธรรมเพียงอย่างเดียว…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๑๕ กันยายน ๒๕๖๕…