ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๘๗

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๘๗…

…การปฏิบัติธรรมนั้นเปรียบได้กับการแสวงหา ยกตัวอย่างให้เห็นได้ดังนี้ว่า เหมือนเราแสวงหาของที่เรายังไม่มี เราอยากจะได้สิ่งของสิ่งนี้เราต้องมีความพยายามหาเหตุหาปัจจัย เพื่อที่จะได้มา สะสมเงินทองเพื่อให้พอที่จะซื้อหาหรือพยายามกระทำ สร้างมันขึ้นมาจนมันสำเร็จตามความปรารถนาได้สิ่งที่ต้องการมาและเราต้องเก็บรักษาสิ่งของสิ่งนั้น ทำความรู้จักกับมันใช้งานมันจนชำนาญแคล่วคล่องคุ้นเคยเก็บรักษามันไว้ในที่อันสมควร เมื่อถึงเวลาก็หยิบขึ้นมาใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องถืออวดอยู่ตลอดเวลา เก็บรักษาไว้ในที่อันเหมาะสม

…นักปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน ต้องรู้จักครอบงำประกาย ไม่ควรโอ้อวดตัวโชว์อวด ให้เขารู้ว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรมเพราะการปฏิบัติธรรมนั้น มิใช่การแสดงมิใช่เป็นไปเพื่อการโอ้อวดประกวดกันเพื่อให้เขากล่าวสรรเสริญยกย่องแต่เป็นไปเพื่อความสงบ สะอาด สว่างละวางจากทิฏฐิมานะและอัตตาและเพื่อความจางคลายของกิเลส ตัณหาอุปาทาน ซึ่งการปฏิบัติธรรมนั้นต้องเกิดจากความคิดจิตที่เป็นกุศลการเริ่มต้นที่ที่ต้องและดีงาม ความเจริญในธรรมจึงบังเกิด เพราะคำว่า ภาวนานั้นคือการกระทำให้ดีขึ้น พัฒนาขึ้นสิ่งที่เรียกว่าพัฒนาขึ้น ดีขึ้นนั้นก็คือความดี คือกุศลธรรมทั้งหลาย

…จึงขอฝากไว้ให้เป็นข้อคิดสะกิดเตือนใจแก่ผู้ใคร่ในธรรมทั้งหลาย โปรดได้นำไปคิดและพิจารณาใคร่ครวญดูว่า…

“เรามีความปรารถนาในการปฏิบัติธรรมเพราะอะไร สิ่งที่เราคาดหวัง ตั้งใจไว้นั้นมันเป็นกุศลจิตหรือไม่” ไม่มีใครรู้ซึ้งเท่าหนึ่งจิต สิ่งที่เรานึกคิดเรารู้อยู่แก่ใจว่าเราคิด เราหวังอะไร ในการปฏิบัติธรรม…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๕…