ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๘๖

…ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๘๖…

…มีผู้คนจำนวนมากที่ปฏิบัติธรรมโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังปฏิบัติธรรมอยู่ เพราะว่าเขาเหล่านั้น ไม่ได้ไปยึดติดหรือสนใจในรูปแบบและความหมาย เพียงแต่ดำเนินชีวิตไปอย่างมีสติในการคิดและการทำงาน มีสมาธิเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวเป็นสมาธิตามธรรมชาติที่ทุกคนนั้นมีอยู่

…เพราะความหมายของคำว่าสมาธินั้นคือการมีสติแนบแน่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานาน ในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำสมาธิชนิดนี้เรียกว่า สมาธินอกระบบของพุทธศาสนา ไม่ได้เกิดจากภาวนาแต่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติจากการมีสติในการคิดและการทำงาน เกิดจากการคิดและพิจารณาจิตจดจ่ออยู่ในเรื่องที่คิดและกิจที่กำลังทำ

…คนที่มีสมาธินั้นความคิดจะเป็นระบบและมีระเบียบในชีวิต มีความรับผิดชอบในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำ จัดระบบชีวิตของคนนั้นอย่างมีระเบียบ สามารถที่จะจดจำเรื่องราวต่างๆในอดีตได้ดี เพราะว่ามีสติระลึกรู้อยู่เสมอ

…สมาธิชนิดนี้เป็นสมาธิที่ใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิตในประจำวัน เป็นสมาธิพื้นฐาน ที่ทุกคนนั้นมีอยู่ มากบ้างน้อยบ้างตามกำลังของแต่ละคนและสามารถที่จะนำมาปรับเพื่อให้เข้าสู่สมาธิในระบบของพระพุทธศาสนาได้ง่าย เพียงแต่เพิ่มกำลังของคุณธรรมลงไป คือความละอายและความเกรงกลัวต่อบาป ในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำและการเปิดใจให้กว้างยอมรับฟังทุกอย่างทุกความเห็นของผู้อื่น นั้นคือการลดละมานะทิฐิและอัตตา ความยึดถือความยึดติดในตัวตน…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม…
…๙ ตุลาคม ๒๕๖๕…