…บอกกล่าว เล่าเรื่อง บทที่ ๔…
…การพูดหรือการแสดงออกทางกายนั้นบางครั้งทำให้เรารู้ถึงความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของเขา เพราะคำพูด สีหน้าแววตา มันสื่อถึงความรู้สึกภายในของเขาซึ่งถ้าเราเป็นผู้ฟังหรือคู่สนทนา ควรที่จะสังเกตในอาการเหล่านั้น เพราะการพูดนั้นมันสื่อให้รู้ถึงภูมิปัญญาของผู้พูดว่ารู้จริงหรือไม่หรือว่าได้แต่พูดโดยไม่รู้จริง
…แต่คนที่นิ่งไม่พูดไม่แสดงออกนั้นเราอ่านความรู้สึกนึกคิดเขายากมากเพราะเขาไม่ยอมเผยตัวตนที่แท้จริงออกมา เหมือนดั่งคำโบราณที่กล่าวไว้ว่า ” น้ำนิ่งไหลลึก ” เราไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไร เหมือนสายน้ำที่ลึกและกว้างใหญ่ ผืนน้ำด้านบนคล้ายดั่งสงบนิ่ง แต่เบื้องล่างกระแสน้ำไหลเชี่ยวและแรง ฉะนั้นอย่าได้รีบตัดสินโดยสายตาที่มองเห็น จงคิดและพิจารณาให้ถ้วนถี่ รอบคอบเสียก่อนจึงตัดสินว่ามันเป็นอย่างไร
…คนเรานั้นอย่ารีบด่วนสรุปว่าเขาเป็นอย่างไร โดยเพียงคำพูดหรือการกระทำที่เราเพิ่งจะเห็น เพิ่งจะรู้หรือพึ่งจะได้ยิน ต้องศึกษากันไปก่อนให้คุ้นเคยกัน แล้วจึงจะสรุปว่าเขาเป็นอย่างไร ซึ่งจะขอยกคำคมมากล่าวอ้างเพื่อ ให้เป็นแบบอย่างในการคิดและพิจารณาว่าเขาเป็นอย่างไร ก่อนที่จะตัดสินใจในตัวบุคคลเหล่านั้น ซึ่งมีดั่งนี้คือ…
…จะรู้ว่าใครมีศีลหรือไม่ ต้องอยู่ร่วมกันนาน ๆ
…จะรู้ว่าใครมือสะอาดหรือไม่ ต้องดูที่การทำงาน
…จะรู้ว่าใครมีปัญญาหรือไม่ ต้องดูที่การสนทนา
…จะรู้ว่าใครมีกำลังใจเข้มแข็งหรือไม่ต้องดูที่คราวคับขัน…
…ทุกสิ่งอย่างนั้น กาลเวลาจะเป็นตัวพิสูจน์ในตัวบุคคลและผลของงาน…
…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๕…