…รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๓๒…
…อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการ…
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !” อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการ เหล่านี้คือ…
๑. ย่อมได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง
๒. สิ่งที่ได้ฟังแล้วแต่ไม่เข้าใจชัดย่อมเข้าใจชัดขึ้น
๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้
๔. ทำความเห็นให้ตรงถูกต้องได้
๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการเหล่านี้แล”
…ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่ม ๒๒/๒๗๖…
…อย่าได้ปฏิเสธในศาสตร์และวิชาต่าง ๆ ที่มีในโลกนี้ จงศึกษาค้นคว้าให้เข้าใจถึงที่มาและที่ไปในทุก ๆ ศาสตร์ ให้รู้ว่าทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ทำไมจึงสอนกันอย่างนี้ ทำไมเขาจึงเข้าใจมันอย่างนี้มีเจตนาเป็นอย่างไร อะไรเป็นกุศโลบายในศาสตร์นั้น ๆ โดยการทดลองประปฏิบัติตามในหลักของศาสตร์นั้น ๆ แล้วใช้สติพิจารณาใคร่ครวญโดยจิตที่ละเอียดแยบคาย
…“โยนิโสมนสิการ” คือการคิดวิเคราะห์อย่างมีระบบ อย่างถูกวิธี พิจารณาไตร่ตรองสาวไปหาซึ่งสาเหตุหรือต้นตอที่เกิดของเรื่องที่เรากำลังพิจารณา ให้เห็นที่มาและที่ไปคิดไปให้ถึงรากถึงโคน แล้วประมวลความคิดรอบด้านจนกระทั่งสรุปออกมาได้ว่า สิ่งนั้นควรหรือไม่ควรดีหรือไม่ดี เป็นต้น
…เป็นวิถีทางแห่งปัญญา เป็นธรรมสำหรับกลั่นกรองข้อมูลหรือแหล่งข่าวอีกชั้นหนึ่งเป็นพื้นฐานของจิตที่จะนำมาซึ่งสัมมาทิฏฐิทำให้รู้จักเหตุผล ไม่หลงงมงาย ทุก ๆ ศาสตร์ในโลกนี้ล้วนแต่มีทั้งคุณและโทษทั้งประโยชน์และมิใช่ประโยชน์มันอยู่ที่เราจะแยกแยะจะมองหรือหยิบฉวยมาใช้ ทำความรู้ความเข้าใจกับทุก ๆ ศาสตร์และทุกสรรพสิ่งแล้วเราจะเห็นความเป็นจริงทั้งในทางโลกและทางธรรม…
๐ สายธาร แห่งศรัทธา
น้อมนำมา สรรพสิ่ง
สัจจะ คือของจริง
แห่งพุทธะ พระสัมมา
๐ เอาธรรม มานำกล่าว
บอกเรื่องราว ที่ค้นหา
บอกผ่าน กาลเวลา
ตามโอกาส ที่พึงมี
๐ สายธาร แห่งสายธรรม
เสนอนำ สู่ความดี
เส้นทาง ที่บ่งชี้
สู่สันติ สงบเย็น
๐ ทบทวน ใคร่ครวญคิด
เพ่งพินิจ เมื่อพบเห็น
สิ่งที่ ควรจะเป็น
ความเหมาะสม และพอเพียง
๐ วางจิต ให้เป็นกลาง
มองทุกอย่าง ไม่ลำเอียง
สิ่งชั่ว ควรหลีกเลี่ยง
ยับยั้งจิต ไม่คิดทำ
๐ เตือนตน ด้วยสติ
สมาธิ ช่วยชี้นำ
ก่อเกิด กุศลกรรม
ด้วยสติ และปัญญา
๐ รู้ควร และรู้ชอบ
อยู่ในกรอบ แห่งสัมมา
สร้างเสริม พัฒนา
กุศลกรรม ทำสิ่งดี
๐ สิ่งดี ของชีวิต
เป็นนิมิต จะนำชี้
ปลายทาง ของชีวี
สุคติ คือที่ไป…
…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒ เมษายน ๒๕๖๕…