…ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๙๙…
…”กมฺมุนา วตฺตตีโลโก”…สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรมที่สุดของพรหมวิหาร ๔ ก็คือการวางอุเบกขาเพราะเราเมตตาสงสาร จึงเข้าไปสงเคราะห์ช่วยเหลือ ถ้าเขาดีขึ้นเราก็ยินดีด้วยกับเขาแต่ถ้าสงเคราะห์แล้ว ยังเหมือนเดิมหรือแย่ลงกว่าเดิมก็ต้องทำใจปล่อยวาง เพราะว่าเราทำหน้าที่ของเรานั้นสมบูรณ์แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นวิบากกรรมของเขาเองที่จะต้องได้รับ
…อุเบกขา
เพราะเราเข้าใจในวิสัยของสัตว์โลกที่มีกรรมเป็นของเฉพาะตน มิได้เกิดความน้อยใจหรือเสียใจเพราะไม่ได้หวังอะไรจากการสงเคราะห์เขาเราทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ก็เพียงพอแล้วถือว่าเป็นการสร้างบารมี ผลจะออกมาอย่างไรเป็นเรื่องของวิบากกรรมของแต่ละคนเรารับเอาแต่บุญไม่ไปร่วมในบาปกรรมของเขาสิ่งที่ทำลงไปแล้วใจเป็นสุขทุกครั้งที่คิดถึงนั้นคือบุญแต่ถ้าทำไปแล้วใจเป็นทุกข์ แสดงว่าการกระทำนั้นยังไม่ถูกต้องแม้เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่ดีงามก็ตามเพราะเราทำไปโดยหวังผล ทำเพื่อตอบสนองความต้องการของเราเอง จิตของเรานั้นยังไม่บริสุทธิ์เพียงพอใจมันเลยเศร้าหมอง แต่ถ้าเราบริสุทธิ์ใจไม่หวังผลตอบแทนในการกระทำ ใจของเราก็จะเกิดปีติ
…กว่าจะถึงวันนี้
ที่เรารู้จักการวางใจให้เป็นอุเบกขาได้นั้นต้องผ่านวันเวลามายาวนานพบพานหลายสิ่งที่สะเทือนใจกว่าจะรู้กว่าจะเข้าใจเราต้องวุ่นวายใจไปหลายครั้งเพราะเราไปมุ่งหวังในการกระทำของเราไปกำหนดผลความสำเร็จไว้ล่วงหน้า เมื่อไม่ได้มาก็เสียใจวันเวลาที่ผ่านไปเราได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นอีกมากมายและสอนเราให้เข้าใจในเรื่องของผลกรรม…
…กรรมแหละเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก…
…เช้าวันใหม่ ชีวิตใหม่…
…รุ่งอรุณ วันใหม่ ฟ้าใสสด
ฟ้างามงด ด้วยแสงทอง ที่ส่องฉาย
ลมอ่อนอ่อน พัดผ่าน ให้สบาย
ปลุกใจกาย ให้ตื่น รับตะวัน
…เมื่อแสงเงิน แสงทอง ส่องขอบฟ้า
เหล่าวิหก นกกา ต่างสุขสันต์
ต่างส่งเสียง สื่อสาร ประสานกัน
ต้อนรับวัน ฟ้าใหม่ ที่ใกล้มา
…บรรยากาศ เป็นใจ ให้เหมาะสม
ฝากสายลม ผ่านร่มไม้ จากภูผา
ร่ายกวี สุนทร เป็นกลอนมา
ส่งฝากฟ้า ผ่านสายลม ให้ชมกัน
…ชีวิตนี้ มีอะไร มากมายนัก
หากรู้จัก ค้นคิด จิตสร้างสรรค์
ไม่ปล่อยเปล่า ล่วงไป ในคืนวัน
อย่าให้มัน ผ่านไป โดยไร้การ
…จงทบทวน ถึงชีวิต ที่ผ่านมา
จะได้เห็น คุณค่า มหาศาล
จงเก็บเกี่ยว สิ่งที่พบ ประสพการณ์
สิ่งที่ผ่าน มาพินิจ คิดใคร่ครวญ
…เพื่อจะเดิน ก้าวไป สู่ข้างหน้า
วันเวลา ผ่านไป ไม่กลับหวน
ทำอะไร ให้ใจรู้ สิ่งคู่ควร
จงทบทวน ฝึกจิต คิดให้เป็น
…จงรู้จัก แยกแยะ ดีและชั่ว
สิ่งที่ตัว นั้นได้รู้ และได้เห็น
สิ่งที่ทำ สิ่งที่คิด จิตที่เป็น
มองให้เห็น ตัวตน ค้นให้เจอ
…มีสติ รู้ตัว อยู่ทั่วพร้อม
มีใจน้อม สู่ธรรม ไม่พลั้งเผลอ
รู้เท่าทัน กับจิต เมื่อเจอะเจอ
รู้เสมอ รู้ทัน กับอารมณ์
…รู้อะไร ก็ไม่สู้ เท่ารู้จิต
รู้ความคิด สิ่งผิด จิตนั้นข่ม
อะไรดี อะไรชอบ จงชื่นชม
ฝึกอบรม ข่มจิต ให้คิดดี…
…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๕…