…รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๒๕…
…“สรรพสิ่งล้วนเคลื่อนไหว ไปตามกฎแห่งธรรมชาติ” มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป ซึ่งเงื่อนไขของกาลเวลานั้นอาจจะแตกต่างกันไป ตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นจนบางครั้งเราแทบจะไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของความเสื่อมสลายที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทุกขณะ จึงเข้าไปยึดติดและยึดถือในสิ่งเหล่านั้น อยากจะให้มันเป็นไปตามที่ใจของเรานั้นปรารถนาให้เป็นซึ่งถ้าสิ่งเหล่านั้น มันตอบสนองความต้องการของเราได้เราก็จะยินดีและเพลิดเพลินไปกับมัน
…แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่เป็นไปตามที่ใจของเรานั้นปรารถนาและต้องการแล้ว ก็จะเกิดจิตปฏิฆะความขุ่นใจ ความคับแค้นใจความทุกข์ทั้งหลายก็จะเกิดขึ้นในจิตเพราะว่าเราไปยึดติดในความต้องการของเรามากเกินไปไม่เข้าใจและยอมรับในความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่มันต้องดำเนินไปตามกฎแห่งธรรมชาติทั้งหลายนั้น
…การที่จะพัฒนาจิตให้ยอมรับกับกฎของธรรมชาติได้นั้น คือต้องหมั่นพิจารณาให้เห็นถึงคุณ ถึงโทษ ของอารมณ์เหล่านั้นจนเกิดความละอายและเกรงกลัวต่อความเศร้าหมองของจิตเกิดความเบื่อหน่ายและเกิดความจางคลายในการยึดถือในตัวตนมันจึงจะหลุดพ้นจากอารมณ์เหล่านั้นได้…
๐ ยกกวี ลำนำ คำครูสอน
เป็นบทกลอน สอนใจ ให้ครวญคิด
อย่าประมาท บาปกรรม อันน้อยนิด
ที่เกาะจิต เกาะใจ ในผู้คน
… “อย่าดูหมิ่น บาปกรรม อันน้อยนิด
จะไม่ติด ตามต้อง สนองผล
เหมือนตุ่มน้ำ เปิดหงาย รับสายชล
ย่อมเปี่ยมล้น ด้วยอุทก ที่ตกลง”…
๐ คือกวี คำสอน แต่ก่อนเก่า
สอนให้เรา ได้คิด จิตไม่หลง
มีสติ จัดวาง อย่างมั่นคง
เพื่อเสริมส่ง ให้คิด ด้วยจิตดี
๐ ฝึกทำดี เริ่มที่ ใจเราคิด
คือฝึกจิต วางใจ ให้ถูกที่
ตั้งจิตเป็น กุศล ส่งผลดี
ใจเรานี้ ก็จะห่าง ทางอบาย
๐ ใจที่มี ธรรมะ คุ้มครองอยู่
ทำให้รู้ ถึงชีวิต นิมิตหมาย
กำหนดที่ จะไป เมื่อใกล้ตาย
สุคติ คือที่หมาย ปลายทางเรา
๐ วันเวลา ของชีวิต นั้นนิดหน่อย
อย่าได้ปล่อย เผลอใจ ในทางเขลา
หลงกิเลส ตัณหา พามัวเมา
ให้ต้องเศร้า ต้องทุกข์ ไม่สุขใจ
๐ สุขในธรรม ล้ำค่า กว่าสุขอื่น
เมื่อจิตตื่น ด้วยธรรม นำสดใส
เพราะว่ามี คุณธรรม ประจำใจ
ชีวิตใหม่ ในทางธรรม บุญนำพา…
…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๖ มีนาคม ๒๕๖๕…