รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๒๖

…รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๒๖…

…ความรู้สึกของอารมณ์ภายในที่ภาษาธรรมเรียกว่า เวทนา คือ สุข-ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ประกอบด้วยอามิสและไม่ประกอบด้วยอามิส คือความหวั่นไหวทางจิตต่อผัสสะ ขึ้นอยู่กับสภาวะของจิตในขณะนั้น ว่าจะมีสติสัมปชัญญะมากน้อยเพียงใด

“ภายนอกเคลื่อนไหว แต่ภายในสงบนิ่ง” ก็จะเห็นความเป็นจริงของสภาวะจิต ความวุ่นวายเรานั้นไม่ต้องออกไปแสวงหา เดี๋ยวมันก็มาหาเราเอง ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนมันก็ตามไปถึง หน้าที่ของเราคือการเตรียมตัว เตรียมใจ รับกับปัญหาที่มันจะมา ทุกเวลา ทุกขณะโดยยึดหลักธรรมเป็นเครื่องอยู่

…“ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารี ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ผิดเป็นครูรู้แล้วจำ ไม่กระทำผิดอีกเป็นครั้งที่สองท่องให้ขึ้นใจ แล้วนำไปปฏิบัติ เตือนตัวเตือนตนอยู่เสมอ ไม่ให้เผลอขาดสติ”….

๐ ท้องฟ้า เมื่อหลังฝน
ฟ้าเบื้องบน นั้นแจ่มใส
เมฆดำ นั้นหายไป
เปลี่ยนฟ้าใหม่ ให้งามตา

๐ เหมือนคน ที่ทนทุกข์
ได้พบสุข ที่เฝ้าหา
ทุกข์จาง ทุกข์ร้างลา
ความสุขมา ก็ดีใจ

๐ ใจดี ส่งกายเด่น
อย่างที่เห็น ความสดใส
ราศี ดีทันใด
เพราะว่าใจ นั้นมันดี

๐ ใจทุกข์ เพราะยึดถือ
สิ่งนั้นคือ ทุกข์วิถี
ทุกข์มาก เพราะอยากมี
ทุกข์อีกที เพราะเสียไป

๐ ตัวกู และของกู
ต้องเรียนรู้ และแก้ไข
เรียนรู้ อยู่ที่ใจ
เรียนรู้ไป ในตัวกู

๐ ตัวกู คืออัตตา
ต้องศึกษา และเรียนรู้
เข้าใจ ในตัวกู
เราก็อยู่ สุขสบาย…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๗ มีนาคม ๒๕๖๕…

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *