รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๘๔

…รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๘๔…

…ในความเคลื่อนไหว ขอให้ใจสงบนิ่ง…

…ชีวิตคนเรานั้น มันไม่ได้สลับซับซ้อนอะไรมากมาย มันเป็นชีวิตที่เรียบง่ายถ้ารู้จักความพอดีและพอเพียง ยินดีในสิ่งควรเป็นและควรได้ เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเองและเคารพในบทบาทและหน้าทีของผู้อื่น

…แต่สิ่งที่ทำให้ชีวิตนั้นสับสนวุ่นวายก็คือตัวกิเลสตัณหา ความทะยานอยากที่ไม่รู้จักพอ ทำให้เกิดการก้าวก่ายในบทบาทหน้าที่ของผู้อื่น ก้าวล่วงไปในสิ่งที่ควรมีและควรเป็นของตนเองล้ำไปในสิ่งที่ผู้อื่นนั้นควรจะได้รับ

…ชีวิตนั้นจึงสับสนและวุ่นวาย เพื่อให้ได้มาซึ่งความสมปรารถนาของตนเองหลงติดอยู่ในสิ่งสมมุติทั้งหลายเวียนว่ายอยู่ในวังวนของกิเลสตัณหาไม่มีวันสิ้นสุด ชีวิตไปยึดถือและยึดติดในสิ่งที่สมมุติขึ้นมาทั้งหลาย

…สังคมมนุษย์จึงสับสนวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุดเพราะว่ามนุษย์นั้น ไม่รู้จักคำว่าพอประมาณในการใช้ชีวิต โลกนี้มันจึงเป็นเช่นนั้นเอง…

…สรรพสิ่ง เคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง
คือความจริง ที่เห็น และเป็นอยู่
ใช้สติ ใคร่ครวญ ทบทวนดู
ก็จะรู้ และเข้าใจ ในหลักธรรม

…มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับ
เปลี่ยนสลับ กันไป เหมือนเช้า-ค่ำ
มีสีขาว ก็ย่อมมี ทั้งสีดำ
เพื่อเตือนย้ำ ความแตกต่าง สองอย่างกัน

…และเมื่อเรา วางใจ ไม่ยึดถือ
สิ่งนั้นคือ ของเรา เข้าถือมั่น
เมื่อใจว่าง ก็วางได้ โดยเร็วพลัน
สิ่งสำคัญ คือใจ เป็นประธาน

… เริ่มที่ใจ ที่จิต ต้องคิดก่อน
โดยการย้อน มองสิ่ง ที่พ้นผ่าน
เอาเป็นครู เรียนรู้ ประสพการ
นั่นคืองาน ของจิต ที่คิดทำ

…การทำดี ต้องเริ่มที่ การฝึกคิด
ฝึกทำจิต คิดดี หลายทีซ้ำ
คิดอะไร ก็ให้ดี มาชี้นำ
คือฝึกทำ ฝึกจิต ให้คิดเป็น

…คิดเพื่อหา เหตุผล ต้นความคิด
ต้องฝึกจิต ให้รู้ ดูให้เห็น
ทำประจำ จากเช้า จนถึงเย็น
ไม่ว่างเว้น ฝึกทำ จนชำนาญ

…ให้ใจเรา นั้นอยู่ กับกุศล
เป็นมงคล ชีวิต จิตอาจหาญ
ทำสิ่งใด ก็รู้เท่า ทันเหตุการณ์
นี่คืองาน ฝึกสติ ให้รู้ทัน

… ระลึกรู้ ให้เห็น ความเป็นอยู่
โดยตามดู ความคิด จิตเรานั้น
แยกถูกผิด ชั่วดี ออกจากกัน
ให้ใจนั้น มีสติ อยู่คุ้มครอง

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕…

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *