เรียงร้อยธรรมไปตามกาล บทที่ ๙๕

…เรียงร้อยธรรมไปตามกาล บทที่ ๙๕…

…ในการตอบปัญหาธรรมหรือเขียนบทความบทกวีธรรมนั้น คือการทบทวนในธรรมที่ได้เคยปฏิบัติมา ไม่ใช่ภาระ ไม่ใช่หน้าที่ แต่เป็นการฝึกหัดปฏิบัติตน เพราะในบางครั้งเรานั้นอาจจะไม่ได้ทบทวนในข้อธรรมนั้นๆแต่เมื่อมีผู้มาถาม จะเป็นการกระตุ้นเตือนให้เราได้คิดและพิจารณาในธรรมข้อนั้นๆ ซึ่งเป็นการฟื้นความทรงจำให้แก่ตัวเราเองและคำตอบที่จะย้ำเตือนผู้ปฏิบัติธรรมอยู่เสมอนั้นก็คือการตั้งเจตนาในการกระทำ ในการปฏิบัติว่าต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นที่ถูกต้องเพราะจะทำให้ปฏิบัติไปไม่พิดพลาดหลงทางไม่สำคัญผิดคิดคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติ

…เพราะถ้ามันผิดตั้งแต่ก้าวแรกที่ก้าวเดินแล้วทางที่เดินไปมันก็จะออกห่างจากความเป็นจริงยิ่งขึ้นไปและถ้าไม่ได้หันมามองรอยทางที่เรานั้นผ่านมา เราก็จะคิดว่ามันดีแล้ว ตรงแล้ว ถูกต้องแล้วเสมอ หลงไปในสิ่งที่ทำ จึงต้องเน้นย้ำเรื่องการคิดพิจารณาใคร่ครวญทบทวนในสิ่งที่ได้กระทำมาอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้เห็นสิ่งที่ผ่านมา

…เพราะเป็นองค์ประกอบในการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ตามหลักธรรมแห่งอิทธิบาท ๔ที่ต้องมีเสมอกัน ในการปฏิบัติ คือ ฉันทะ วิริยะจิตะ วิมังสา ความชอบความพึงพอใจในสิ่งที่ทำ ความเพียรพยายามที่จะกระทำในสิ่งที่ชอบในสิ่งที่ใช่ ทำเรื่อยไปไม่ทอดทิ้งธุระทำทุกขณะที่สามารถจะกระทำได้และสุดท้ายก็คือดูสิ่งที่ได้กระทำมา

…พิจารณาว่าเป็นอย่างไร เราจึงจะรู้และเข้าใจว่าทำไมมันไม่ก้าวหน้า เป็นเพราะว่าเราขาดหรือย่อหย่อนในข้อใด หรือมันเจริญก้าวหน้ามาอย่างไร อะไรเป็นเหตุและเป็นปัจจัยที่มันทำให้เกิดความเจริญในธรรม

…”ไม่มีใครรู้ซึ้งเท่าหนึ่งจิต” ไม่ต้องให้ผู้อื่นมาสอบอารมณ์ของเรา ตัวเราเองต้องรู้จักตัวเราเอง เน้นเรื่องการดูกาย ดูจิต ดูความคิดและการกระทำของตัวเราเอง เพื่อให้รู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง” ดูหนัง ดูละคร แล้วจงย้อนมาดูตัวเอง ” นั้นคือสิ่งที่ต้องฝึกหัดกระทำให้เป็นความเคยชินและกลายเป็นนิสัยนั่นคือสิ่งที่เน้นย้ำให้ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายพึงกระทำ พึงคิดและพิจารณาให้สม่ำเสมอ…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๕ มิถุนายน ๒๕๖๕…

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *