ระลึกทบทวนธรรมในยามเย็น

…ระลึกทบทวนธรรมในยามเย็น…

…การปฏิบัติธรรมที่ให้เริ่มต้นจากการให้ทานนั้น ก็เพื่อให้เป็นพื้นฐานในการปรับจิต ให้รู้จักคิดเสียสละลดละซึ่งความเห็นแก่ตัว เพื่อให้มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟือเผื่อแผ่มีพรหมวิหาร ๔ เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต จิตนั้นจะอ่อนโยนลงไม่หยาบแข็งกระด้าง เป็นการสร้างคุณธรรมให้แก่จิต แต่ก็ไม่ให้ไปยึดติดในทานนั้นจนเกินไป จนกลายเป็นทิฏฐิมานะและอัตตา โดยคิดว่าเราดีเราเด่นกว่าผู้อื่น

…“แม้นน้อยนิดด้วยปัจจัย แต่ยิ่งใหญ่ด้วยอานิสงส์ ถ้าจิตจำนงนั้นบริสุทธิ์” ไตรสิกขา ๓ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้สำหรับประชาชนทั้งหลาย จึงเริ่มต้นด้วย ทาน ศีล ภาวนา ซึ่งต้องปฏิบัติให้สอดคล้องต้องกัน เพื่อเป็นพื้นฐานให้เกิดความเจริญในธรรมที่ยิ่งขึ้นไปสู่ไตรสิกขา ๓ สำหรับบรรพชิต อันได้แก่ศีล สมาธิและปัญญา สมถะและวิปัสสนาในขั้นต่อไป

…ทานนั้นจึงเป็นพื้นฐานให้ลดละซึ่ง ทิฏฐิมานะและอัตตา เพราะว่าจะได้ไม่สำคัญผิดคิดเข้าข้างตนเอง ในสิ่งที่รู้ ในสิ่งที่เห็นและในสิ่งที่ทำ จิตที่แข็งกระด้างนั้น ก่อให้เกิดทิฏฐิมานะและอัตตา ดังที่ได้เคยกล่าวไว้ว่า…

“อย่าโอ้อวดว่าเราเก่งกว่าผู้อื่น วิเศษกว่าผู้อื่น อย่าคิดว่าเรารู้มากกว่าผู้อื่นรู้ดีกว่าผู้อื่น จะเป็นเหตุให้ก่อเกิดมานะทิฏฐิ เกิดความถือตัวถือตน”

…อย่าใช้ความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งของเราไปผูกยึดหรือผูกมัดผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นต้องเป็นไปตามความต้องการของเราตามความอยากของเรา เพราะเราไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตใคร เรามีแต่เพียงหน้าที่ที่ต้องทำเท่านั้น ทำหน้าที่ของเรานั้นให้สมบูรณ์ เต็มกำลังความรู้ความสามารถของเรา ผลจะเป็นเช่นไรนั้น เป็นเรื่องของวิบากกรรมที่เคยได้กระทำมา

…“ทุกอย่างนั้นจึงต้องเริ่มต้นที่เจตนาอันบริสุทธิ์ ในการคิดและทำ”…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๗ มิถุนายน ๒๕๖๕…

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *