ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๓

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๓…

…“เมื่อเราเพียรเพ่งดูจิต ดูความคิดให้จิตอยู่กับตนเองตลอดเวลาเราก็จะเข้าใจในสังขารร่างกายและจิตของเรา”…

…“ ความว่างทางจิตนั้นคือความว่างจากอารมณ์ยินดี ยินร้ายแต่ไม่ว่างจากตัวรู้ ยังตามดูตามเห็นแต่จิตไม่ไปคิดปรุงแต่ง ”…

…เมื่อจิตว่าง ใจสงบ ก็พบธรรม…

๐ วันเวลา ผ่านไป ไม่หยุดนิ่ง
สรรพสิ่ง ผันแปร และเปลี่ยนผัน
กาลเวลา ไม่หยุดนิ่ง ทุกคืนวัน
ความแปรผัน คือกฎ อนิจจัง

๐ มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับ
เปลี่ยนสลับ เรื่อยไป อย่าได้หวัง
ให้ทุกอย่าง คงที่ และจริงจัง
อาจพลาดหวัง ไม่เป็น เช่นต้องการ

๐ ทุกอย่างนั้น อยู่ในกฎ พระไตรลักษณ์
นั้นคือหลัก ของธรรม ที่กล่าวขาน
อยู่กับโลก และธรรม ตลอดกาล
โลกและธรรม ประสาน เป็นหนึ่งเดียว

๐ อยู่กับกาย และจิต พินิจธรรม
เพื่อจะนำ ให้จิต คิดเฉลียว
โลกและธรรม ผสม เข้ากลมเกลียว
เป็นหนึ่งเดียว คือธรรม พระสัมมาฯ

๐ เอาพระธรรม นำมา ใช้เป็นหลัก
เดินตามมรรค แนวทาง ให้ศึกษา
มรรคคือทาง สายกลาง สร้างปัญญา
พัฒนา ทางจิต นิมิตดี

๐ เพื่อน้อมนำ ทำจิต เป็นกุศล
จะมีผล เป็นสง่า มีราศี
เพราะมีธรรม นำจิต ให้คิดดี
ก็จะมี ความสุข ไม่ทุกข์ใจ

๐ สุขในธรรม นำทาง สร้างชีวิต
สุขเพราะจิต นั้นคิด ถึงสิ่งใหม่
สุขเพราะจิต เป็นกุศล นั้นดลใจ
สุขเพราะได้ มีธรรม นั้นนำทาง

๐ เพราะมีธรรม นำทาง สว่างจิต
นำชีวิต ก้าวไป ในแบบอย่าง
ให้เข้าใจ ในจิต คิดละวาง
จิตสว่าง ใจสงบ เมื่อพบธรรม…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕…