ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๕

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๕…

…การรักษาศีลนั้น เราอย่าไปยึดติดกับถ้อยคำและตัวอักษรให้มากเกินไปมันอยู่ที่ใจของเรา เพราะว่าการรักษาศีลนั้น คือการมีสติและสัมปชัญญะอยู่กับกายและใจของเราภาษาชาวบ้านเรียกว่าใจอยู่กับกับเนื้อกับตัว รู้ว่าเรากำลังทำอะไรและสิ่งที่เราทำนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าเป็นอกุศลก็ไม่ควรกระทำ ควรงดเว้นการที่เราหักห้ามใจในอกุศลได้นั้น ทำให้เกิดคุณธรรม คือหิริและโอตตัปปะ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป…

…ศีลจะสมบูรณ์ได้นั้น ต้องประกอบด้วยคุณธรรม คือมีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป มีสติและสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ ฉะนั้น การรักษาศีลจึงเป็นการฝึกสติไปในตัวและศีลนั้นจะสมบูรณ์ด้วยการมีสติและเมื่อเรามีกำลังของสติที่สมบูรณ์แล้วการภาวนาก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะสติที่มีกำลังนั้น สามารถที่จะเข้าไปจับองค์ภาวนา คำบริกรรมหรือนิมิตได้อย่างมั่นคง…

…ฉะนั้นในการปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องทำตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้คือทำตามไตรสิกขาทั้งของฆราวาสหรือของบรรพชิตแล้วแต่สถานะของเรา อย่าได้ลัดขั้นตอนอย่าไปเก่งกว่าพระพุทธเจ้า เพียงแต่เราอย่าไปติดยึดในรูปแบบของตัวอักษรจนมากเกินไปเพราะถ้าเราไปยึดติดในสิ่งนั้นแล้ว มันจะดูว่าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่และทำได้ยากเกินกำลังของตัวเรา เราจึงไม่พร้อมที่จะปฏิบัติ “ธรรมะเริ่มจากใจใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน”จึงขอให้เราท่านทั้งหลายมาทำความรู้ ความเข้าใจเพื่อที่จะได้นำไปสู่การปฏิบัติ พัฒนาทางจิต เพื่อชีวิตที่ดีงามในโอกาสต่อไป…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕…