ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๓๙

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๓๙…

…การทำงานทุกอย่างเป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว เพราะว่าการปฏิบัติธรรมนั้นคือการเจริญกุศลจิตเจริญสติและสัมปชัญญะอยู่ทุกขณะจิต มีความระลึกรู้และรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลาทั้งในการคิดและการกระทำซึ่งคนทุกคนนั้นล้วนแล้วแต่มีความคิด มีสติ แต่สิ่งที่ขาดไปคือกุศลจิต ซึ่งเป็นคุณธรรมคุ้มครองจิตไม่ให้คิดไปในทางที่ผิด รู้จักหักห้ามจิตไม่ให้คิดอกุศล รู้จักวางตนอยู่ในสัมมาทิฏฐิซึ่งสิ่งที่ขาดหายไปนั้นเกิดจากพื้นฐานของคุณธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละคน…

…ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า บุคคลแตกต่างด้วยธาตุและอินทรีย์ บารมีที่สร้างสมกันมา การเจริญกุศลจิตเจริญสติภาวนา ก็เพื่อเพิ่มพูนกำลังของบุญกุศล ให้รู้จักกายและใจของตน เพื่อให้เห็นคุณ เห็นโทษเห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของสรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งภายนอกและภายใน ทั้งกายและจิตของเราเพื่อเพิ่มคุณธรรมความละอายและเกรงกลัวต่อบาปให้มากขึ้นแก่จิตของเรา เพื่อที่จะเข้าไปยับยั้งและข่ม ความต้องการในโลกธรรมทั้งหลายอันได้แก่ ลาภ ยศสรรเสริญ สุขและความเสื่อมในโลกธรรมทั้งหลายอันได้แก่เสื่อมลาภ เสื่อมยศ คำนินทาและความทุกข์ ให้รู้จักความพอเหมาะพอดีในสิ่งที่ควรจะได้ ไม่หวั่นไหวกับโลกธรรมทั้งแปด

…การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นไปเพื่อความ ลด ละ เลิก ในกิเลส ตัณหาอัตตา อุปาทานทั้งหลาย เพื่อความจางคลายของกิเลส นั้นคือเป้าหมายของการปฏิบัติธรรม…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๕…