ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๔๓

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๔๓…

…สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นไปตามกฎของพระไตรลักษณ์ คือความเป็นอนิจจังทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปไม่มีอะไรที่จะหนีกฎธรรมชาตินี้ไปได้สิ่งที่สำคัญก็คือการทำใจ รับกับสภาวะที่จะเกิดขึ้นนั้น ว่าเราจะรับได้ขนาดไหนในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวของเราเอง

…การสูญเสียนั้น ถ้าเป็นสิ่งของวัตถุที่จับต้องได้ มันก็ไม่เท่าไหร่ เพราะว่าเรายังมีโอกาสที่จะหามาชดใช้มาทดแทนได้ เพราะเป็นของนอกกายแต่สิ่งที่หามาทดแทนไม่ได้ ก็คือความรู้สึกนึกคิดที่เสียไป เสียความรู้สึกที่ดีต่อกัน สิ่งนั้นไม่อาจจะหามาทดแทนได้ เช่นความรู้สึกที่ดี ที่เคยมีต่อกัน เมื่อความรู้สึกนั้น มันเปลี่ยนแปลงไป มันยากที่จะทำให้กลับมาเหมือนเดิม มันเป็นบาดแผลในจิตที่ยากเกินแก้ไข ถึงจะประสานอย่างไรมันก็ยังมีรอยร้าว เหมือนสังคมไทยในปัจจุบันนี้ คือความรู้สึกที่ดีที่เคยมีต่อกันนั้นสูญเสียไป เพราะขาดซึ่งความจริงใจที่มีให้แก่กัน

…ถ้าเราขาดสติไม่พิจารณาดูจิต ปล่อยให้ความคิด รัก โลภ โกรธ หลงเข้าครอบงำ เราจะขาดคุณธรรมและสูญเสียมิตรไป เพราะว่าใจของเรานั้นไม่มั่นคง หลงไปตามกระแสของโลกธรรมทั้งหลาย อันได้แก่ ลาภยศ สรรเสริญ สุข ทำให้จิตใจของคนเปลี่ยนแปลงไป เพราะความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว จนทำให้ขาดซึ่งหิริและโอตตัปปะไม่มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป กระทำในสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ซึ่งมีเหตุมาจากการที่ไม่มีคุณธรรมคุ้มครองจิต เพียงแต่รู้ธรรม เข้าใจธรรม จำเนื้อหาของธรรมได้ แต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติไม่ได้อยู่ในธรรม มันจึงขาดซึ่งคุณธรรมประจำจิต แยกแยะถูกผิดกันไม่ได้เพราะพ่ายแพ้ต่อกิเลสที่ยั่วยวน

…ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจึงต้องหมั่นดูจิตควบคุมความคิดและรู้จักการข่มใจอดกลั้นต่อสิ่งยั่วยวนทั้งหลาย อย่าให้ใจของเรานั้นเสียไป เสียไปจากคุณธรรมที่ดีงาม เพราะว่าถ้าใจของเราสูญเสียไปจากคุณธรรมแล้ว มันจะทำให้เรานั้นหลงทาง เดินออกห่างจากคุณงามความดี มีความคิดเป็นมิจฉาทิฏฐิจนนำไปสู่อบายได้ในที่สุดถ้าเราไม่รู้จักควบคุมจิตใจของเราให้มั่นคงตั้งอยู่ในคุณธรรม…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๕…