ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๓๓

…ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๓๓…

…ทุกชีวิตนั้นย่อมมีความผิดพลาดมากบ้าง น้อยบ้างเป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชนคนที่ยังไม่หมดกิเลสสติยังไม่สมบูรณ์เต็มพร้อมทุกขณะจิตความคิดและการกระทำย่อมอาจจะมีพลั้งเผลอ ไปตามกิเลสตัณหาและอุปาทาน แต่เมื่อใดที่มีสติระลึกรู้แล้ว ควรห้ามจิตห้ามใจไม่กระทำในสิ่งนั้นต่อ ความรู้สึกส่วนลึกใต้จิตสำนึกของทุกคนนั้น ต่างก็อยากจะเป็นคนดีของสังคม แต่บางครั้งการมีทัศนคติต่อสังคมในแง่ร้ายของเขานั้นทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปโดยพฤติกรรมทางกายที่เรียกว่าการประชดสังคม อ้างว่าสังคมไม่ให้โอกาสเขา ทั้งที่ความจริงแล้วสังคมเปิดโอกาสให้เขาอยู่ตลอดเวลาแต่ต้องใช้ระยะเวลาเป็นตัวพิสูจน์เพื่อให้สังคมยอมรับ เพราะความใจร้อนที่อยากจะได้ผลตอบรับโดยเร็วไวจึงทำให้คิดว่าสังคมไม่ให้โอกาสเขาไม่ยอมรับในความดีที่เขาได้ทำ

…ซึ่งความสำเร็จทุกอย่างนั้น ต้องอาศัยความอดทน จังหวะ เวลาโอกาสตัวบุคคลและสถานที่มาเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสำเร็จความยอมรับของสังคม การกระทำที่เสมอต้นเสมอปลายในสิ่งที่ดีทั้งหลายนั้นจะเป็นสิ่งพิสูจน์ให้สังคมเขายอมรับ…

…วันเวลาและคุณค่าของชีวิต…

๐ วันเวลาผ่านไปไม่หยุดนิ่ง….
สรรพสิ่งแปรเปลี่ยนตามสมัย…
ช่วงชีวิตนั้นอาจไม่ยาวไกล…
สร้างอะไรให้ชีวิตคิดรึยัง…

๐ ชีวิตอย่าไร้ค่ากว่าใบไม้…
จงก้าวเดินต่อไปอย่าสิ้นหวัง…
อย่าท้อแท้ให้หัวใจไร้พลัง…
ลืมความหลังที่พลั้งพลาดให้ขาดไป…

๐ อย่าไปโทษโชคชะตาว่าฟ้าแกล้ง…
อย่าเสแสร้งกลบเกลื่อนจงแก้ไข…
ที่ผ่านมานั้นผิดพลาดจากเหตุใด…
อย่าโทษใครมองที่เราเจ้าของงาน…

๐ เมื่อยอมรับความจริงสิ่งที่เกิด…
ไม่ละเมิดศีลธรรมที่พร่ำขาน…
ก็จะเห็นที่มาของเหตุการณ์…
สิ่งที่ผ่านมานั้นมันเป็นกรรม…

๐ จงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเร่งแก้ไข….
ชีวิตใหม่จะได้ไม่ตกต่ำ…
เดินคู่ไปในทางโลกและทางธรรม…
สติย้ำเตือนจิตอย่าผิดทาง…

๐ จงพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่…
จงเรียนรู้ในสิ่งจะเสริมสร้าง…
ให้เจริญก้าวหน้าดั่งที่วาง…
ตามแบบอย่างชีวิตที่คิดครอง…

๐ คุณ…คิดดีแล้วหรือที่กระทำ…
มา…ถลำทำชั่วให้มัวหมอง…
ทำ…สิ่งใดโปรดคิดใช้จิตตรอง…
อะไร…ถูกอะไรต้องจงตรองดู…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕…