ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๓๗

…ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๓๗…

…ความบริสุทธิ์ของจิตอยู่ที่ไหนอะไรที่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์สภาวะนั้นมันเป็นอย่างไร ได้แต่ถามตัวเอง เคยได้ยินได้ฟัง ได้อ่านได้รู้ ก็เพียงที่เขาเล่ามาหรือในตำราที่ได้อ่าน มันเป็นเพียงสัญญาคือการจำได้หมายรู้ที่บันทึกไว้ในสมองเท่านั้น เพียงท่องได้จำได้ พูดได้ เหมือนว่าจะเข้าใจแต่มันยังไม่ใช่ เพราะมันเป็นเพียงสัญญา ซึ่งเป็นปริยัติ ตามตัวอักษร ที่เราตีความขยายความ…

…สภาวธรรมที่แท้จริงนั้น เราอาจจะยังไม่พบหรือพบแล้วแต่เป็นเพียงการผ่านกระแส แต่ไม่ได้ทรงอยู่ในสภาวธรรมนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งความเพียรให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เพื่อทำความพร้อมของกายและจิตของเรา สร้างพละให้กลายเป็นอินทรีย์ให้มีความเหมาะสมที่จะรองรับสภาวธรรมนั้น อย่าอยู่กับความคิดจินตนาการและความฝัน จงทำสิ่งนั้นให้ปรากฏ ซึ่งจะเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับกรรม การกระทำของตัวเรา…

…จิตตื่น กายตื่น น้อมจิตสู่ธรรม…

…พบสิ่งใหม่ และที่ใหม่ ใจจะตื่น
จะพลิกฟื้น จิตใหม่ ให้ค้นหา
เพราะที่ใหม่ สิ่งใหม่ นั้นแปลกตา
อยากรู้ว่า สิ่งที่เห็น เป็นเช่นไร

…เมื่อได้ดู ได้รู้ และได้เห็น
มันก็เป็น อย่างนั้น สิ้นสงสัย
ความแปลกตา แตกตื่น ก็หมดไป
จากสิ่งใหม่ กลายเป็นเก่า ก็เท่ากัน

…ความคุ้นเคย อาจทำให้ ใจนั้นหย่อน
จิตถอดถอน หย่อนยาน ไม่แข็งขัน
ความเคยชิน นั้นทำให้ ใจผูกพัน
เห็นทุกวัน ทำทุกวัน กันเรื่อยไป

…แต่ถ้าใจ ของเรา นั้นตั้งมั่น
จะกี่ปี หรือกี่วัน และที่ไหน
ทุกอย่างเกิด จากจิต และจากใจ
คิดอะไร ทำอะไร ใจมั่นคง

…มีสัจจะ รับผิดชอบ ต่อหน้าที่
สิ่งที่มี สิ่งที่เป็น ไม่ลืมหลง
รักษาจิต รักษาใจ ให้ยืนยง
และมั่นคง ต่อข้อวัตร ด้วยศรัทธา

…จิตสำนึก การใฝ่ดี นั้นมีอยู่
จิตรับรู้ เร่งฝึกฝน เพื่อค้นหา
ปลุกสำนึก การใฝ่ดี ให้ตื่นมา
เพื่อนำพา สู่ชีวิต ทิศทางดี

…ต้องเริ่มทำ ที่ตัวเรา เอาแบบอย่าง
สู่เส้นทาง สายใหม่ ในวิถี
ลบสลาย พฤติกรรม ที่ไม่ดี
ที่มันมี ที่มันทำ แต่ก่อนมา

…เพียงคุณเปลี่ยน ความคิด ชีวิตเปลี่ยน
ไม่วนเวียน อยู่ใน ห้วงตัณหา
มีสติ คุณธรรม นำปัญญา
ก็จะพา สู่ชีวิต นิมิตดี

…ทุกสิ่งนั้น ไม่ยาก เกินแก้ไข
ถ้าหากใจ ยอมทำ ตามหน้าที่
รับผิดชอบ ในบทบาท ตามที่มี
เพียงเท่านี้ ก็ชื่อว่า เข้าหาธรรม …

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๕…