ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๔๔

…ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๔๔…

…พบปะและสนทนากับผู้มาเยือนอยู่เสมอพูดคุยสนทนาธรรม เป็นไปตามวาระเป็นไปตามกาลของงานนั้น ๆ สนองตอบโจทย์ความต้องการให้เขา เท่าที่เรานั้นจะทำได้ และสิ่งที่กระทำไปนั้นต้องไม่ผิดธรรมไม่ผิดวินัยและเป็นไปโดยชอบประกอบด้วยกุศล นั้นคือสิ่งเราสงเคราะห์ให้ได้…

…ใช้เวลายามว่างด้วยการฟังธรรมเพื่อนำมาวิเคราะห์หาความเหมาะสมกับตัวของเราเองที่จะนำไปปฏิบัติเปิดธรรมะของนิกายเซ็น ฟังสูตรของเหว่ยหลาง ฟังสูตรของฮวงโป ฟังแล้วคิดพิจารณาวิเคราะห์ตามในโศลกธรรมทั้งหลายของนิกายเซ็น ซึ่งเป็นเรื่องของการสอนที่ไร้รูปแบบ เป็นเรื่องของการสอนที่จิต ให้พิจารณา…

…ซึ่งผู้ปฏิบัติตามหลักของเซ็นนั้น ต้องที่มีอินทรีย์ที่แก่กล้าและได้สั่งสมบารมีมามากแล้ว จึงจะเกิดปัญญามีดวงตาเห็นธรรม จากการฟังโศลกธรรมสั้น ๆ ไม่กี่คำ มันถึงจะเป็นเซ็นอย่างแท้จริงไม่ใช่การปรุงแต่งฟุ้งซ่านวิจารณ์ธรรม จินตนาการไปเอง มันต้องมีพื้นฐานที่ได้สั่งสมมาจากอดีตชาติมาก่อนแล้วบารมีสั่งสมมาเต็มที่ เพียงแต่รอเวลาให้มีผู้มาเปิดดวงตาให้เห็นธรรมด้วยโศลกธรรมเพียงสั้น ๆ ที่มีความหมายและได้ใจความ จากครูบาอาจารย์ที่เคยได้ร่วมสร้างบารมีกันมาเป็นผู้ชี้แนะ มันเป็นสภาวะแห่งความเป็นปัจจัตตังที่รู้ได้เฉพาะตน ในการปฏิบัติตามนิกายเซ็น…

…การเจริญจิตภาวนาตามหลักของพุทธศาสนานั้น เราสามารถที่จะทำได้ในทุกอิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่งนอน เพราะเป็นเรื่องของการมีสติคือการทำที่จิต แต่ในอิริยาบถต่าง ๆ นั้นจะมีผลต่างกัน เช่นการเจริญสติภาวนาในท่านอนนั้น ทำได้ง่ายเข้าสมาธิได้เร็วแต่จะไม่ตั้งอยู่นาน เพราะนิวรณ์นั้นจะเข้ามารบกวนได้ง่ายคือนิวรณ์ตัวถีนมิทธะ อาการง่วงเหงาหาวนอนสมาธิจะกล้าแต่สติจะมีกำลังน้อยมันจะทำให้เผลอหลับไป ส่วนในอิริยาบถยืนนั้น จะทำได้ยากกว่าการนั่ง เพราะต้องทรงร่างกายให้ตรงเพื่อไม่ให้ล้มและในอิริยาบถเดินนั้นทำได้ยากที่สุด แต่ถ้าเข้าสมาธิได้แล้ว จะตั้งได้อยู่นาน ทรงได้อยู่นาน เพราะว่ามีการเคลื่อนไหวของร่างกายอยู่ตลอดเวลา จึงต้องใช้กำลังของสติเป็นอย่างมาก ในการจดจ่ออยู่กับองค์ภาวนาอยู่ตลอดเวลาการรักษาศีลนั้นคือการเจริญสติเพราะผู้ที่รักษาศีลนั้นต้องมีสติอยู่กับกายและจิต ในการที่จะคิด จะพูดและจะทำ เรียกว่าต้องสำรวมอินทรีย์อยู่ทุกขณะจิต เพื่อไม่ให้ล่วงละเมิดข้อห้ามของศีลที่รักษา ศีลจึงคือที่มาของสติพละและสิ่งที่ได้มาควบคู่กับสติในการรักษาศีล นั้นก็คือองค์แห่งคุณธรรมอันได้แก่ “หิริและโอตตัปปะ” สิ่งนั้นก็คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป

…เพราะการที่เราไม่กล้าที่จะล่วงละเมิดข้อห้ามของศีลนั้น เพราะเรามีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปเป็นตัวกระตุ้นเตือน เพื่อให้เกิดจิตสำนึกความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ดั่งคำพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลายศีลเป็นพื้นฐาน เป็นที่รองรับคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ ประหนึ่งแผ่นดินเป็นที่รองรับและตั้งลงแห่งสิ่งทั้งหลายทั้งที่มีชีพและหาชีพมิได้ เป็นต้นว่าพฤกษาลดาวัลย์ มหาสิงขร และสัตว์จตุบาท ทวิบาทนานาชนิด บุคคลผู้มีศีลเป็นพื้นใจย่อมอยู่สบาย มีความปลอดโปร่งเหมือนเรือนที่ปัดกวาดเช็ดถูเรียบร้อย ปราศจากเรือดและฝุ่นเป็นที่รบกวน” ความบริสุทธิ์ของศีลนั้นก็คือการที่มีสติและสัมปชัญญะที่สมบูรณ์อยู่ในทุกขณะจิต โดยมีองค์แห่งคุณธรรมคุ้มครองอยู่ รู้ได้ด้วยจิตของตนถึงความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ของศีลที่เรารักษานั้น ไม่ใช่การกระทำทางกายเพื่อจะนำไปโอ้อวดข่มกัน ศีลนั้นเป็นเรื่องของการกระทำที่จิต เพื่อให้มีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกาย เพื่อให้เป็นไปโดยชอบและประกอบด้วยกุศลธรรม เป็นบาทฐานเบื้องต้นก่อนที่เข้าสู่การภาวนาให้สมาธิและปัญญานั้นเกิดขึ้น การปฏิบัติธรรมจึงต้องเริ่มจากพื้นฐานสั่งสมอบรมไปตามขั้นตอน จนมีอินทรีย์บารมีที่แก่กล้า ดวงตาจึงจะเห็นธรรม…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๕…