รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๒๙

…รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๒๙…

…ผู้ชี้ขุมทรัพย์…

“อานนท์ ! พวกช่างหม้อย่อมไม่พยายามทำกะหม้อที่ยังเปียกยังดิบอยู่อย่างทะนุถนอม ฉันใด เราย่อมไม่พยายามทำกะพวกเธออย่างทะนุถนอมฉันนั้น อานนท์ ! เราจะขนาบแล้ว ขนาบอีกไม่มีหยุด อานนท์ ! เราจักชี้โทษแล้ว ชี้โทษอีกไม่มีหยุด ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสารผู้นั้นจักทนอยู่ได้”
…พระไตรปิฎกบาลี สยามรัฐ ๑๔/๒๔๕/๓๕๖…

…ใช้ชีวิตตามปกติในแต่ละวันที่ผ่านไปโดยมีสติและสัมปชัญญะควบคุมอยู่ ระลึกรู้ในสิ่งที่คิดและในกิจที่ทำ พยายามเตือนย้ำตนเองให้เกรงกลัวต่อบาปกรรม ในการคิดและทำกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น มองเห็นคุณ เห็นโทษเห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสิ่งที่เราคิด และเรานั้นทำทุกครั้งในการคิดและก่อนจะพูดหรือลงมือทำสิ่งนั้น

…เพื่อจะไม่เป็นการสร้างเวรสร้างกรรมต่อผู้อื่นเขา กิเลสและกรรมเก่าของเรานั้นมันก็มีมากอยู่แล้ว ต้องแก้ไขและชดใช้กรรมเก่าอยู่ทุกวัน จึงไม่ควรสร้างกรรมอันเป็นอกุศลตัวใหม่ให้เกิดขึ้นมาอีกเพราะว่าเวลาของชีวิตในภพนี้ชาตินี้นั้นสั้นลงไปทุกขณะ จึงต้องรีบเร่งความเพียรในการชำระจิต ทำชีวิตที่เหลืออยู่นั้นให้มีคุณค่าทั้งในทางโลกและทางธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป

…ชีวิตแต่ละวันที่ผ่านไปเหมือนไม่ได้ปฏิบัติธรรม เพราะใช้ชีวิตและทำงานตามปกติ ไม่ได้นั่งสมาธิ ไม่ได้เดินจงกรมเจริญสติและสัมปชัญญะกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ดูความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นในจิตทุกขณะ แยกแยะความเป็นกุศลและอกุศล พยายามเตือนตนไม่ให้เผลอจิตไปในสิ่งที่เป็นอกุศล

…เมื่อเรามีสติและสัมปชัญญะอยู่กับกายอยู่กับจิต อยู่กับความคิด อยู่กับการกระทำนั้นแหละคือการปฏิบัติธรรม เหมือนดั่งคำของหลวงพ่อพุทธทาสที่ท่านกล่าวไว้ว่า

“การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” เพราะมีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกายและจิตอยู่ทุกขณะ…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๓๐ มีนาคม ๒๕๖๕…

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *