ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๘๘

…ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๘๘…

…ผู้ที่จะเป็นนักปฏิบัติธรรมนั้นต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาทขาดสติที่เป็นสัมมาสติ คือการระลึกรู้ในสิ่งที่ดี เพราะว่าความประมาทที่ขาดสัมมาสตินั้น จะทำให้นักปฏิบัติเห็นผิดไปจากความเป็นจริง คือมีสติ แต่เป็นมิจฉาสติคือการระลึกรู้ในสิ่งที่ผิดที่ชั่วความไม่ประมาทนั้นพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้มีอยู่ ๔ ประการคือ

๑. ไม่มีความอาฆาตพยาบาทใครคือการที่ต้องทำให้มีจิตใจเป็นกุศลจิตใจที่ดีงาม ไม่น้อยใจตนเองไม่น้อยใจผู้อื่น ไม่โกรธตนเองไม่โกรธผู้อื่น อยู่กับความคิดอยู่กับจิตที่เป็นกุศล

๒. มีสติอยู่ทุกเมื่อ คือมีการระลึกรู้ในสิ่งที่กำลังคิดและในกิจที่กำลังทำรู้จักการแยกแยะบุญและบาป สิ่งที่เป็นกุศลและเป็นอกุศล รู้ในสิ่งที่ควรคิดและในสิ่งที่ควรทำ คือการรู้กาย รู้จิต รู้ความคิด รู้การกระทำมีสติเป็นสัมมา

๓. มีสมาธิอยู่ภายใน คือการตั้งใจมั่นในสิ่งที่กำลังคิดและกำลังทำมีสติสัมปชัญญะอยู่ทุกขณะจิตเพราะว่าสมาธินั้นคือจิตที่ตั้งมั่นตั้งมั่นอยู่ในกายในจิต ในสิ่งที่คิดและในสิ่งที่ทำ

๔. บรรเทาความอยากในใจในจิตคือการรู้จักคิดให้พอดีและพอเพียงกับสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ คือคิดถึงสิ่งที่เป็นไปได้ตามเหตุและปัจจัยที่มีนั้นคือความพอดีในการคิด คือการรู้จักควบคุมจิตใจ ให้อยู่กับความเหมาะสม

…พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า”บุคคลใด ได้มีคุณธรรมทั้ง ๔ประการนี้ บุคคลผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในคำสอนของเราตลอดกาล”…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๕…