ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๑๐๐

…ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๑๐๐…

…คนที่เขาคิดว่าตัวเขาเป็นปราชญ์ เป็นผู้ฉลาดในทางโลก มีความรู้ความสามารถเป็นครูบาอาจารย์ เป็นนักวิชาการทางโลกมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ เป็นทีรู้จักของคนทั่วไปนั้น เมื่อเข้าสู่ทางธรรมต้องถอดวางหัวโขนนั้นให้หมดเสียก่อนเพราะส่วนใหญ่นั้น เมื่อมาศึกษาธรรมะแล้วก็เป็นได้เพียงนักวิจารณ์ธรรมเพราะชื่อเสียงและศักดิ์ศรี อัตตานั้นมันมาบังอยู่ จึงทำให้ไม่รู้สภาวธรรมที่แท้จริง คนฉลาดกับคนมีปัญญานั้นแตกต่างกัน ภาษาโลกและภาษาธรรมนั้นความหมายต่างกัน ความฉลาดและมีปัญญาทางโลกนั้นวัดกันด้วยไอคิวสมอง แต่ความฉลาดและปัญญาในทางธรรมนั้น รู้กันที่ใครจะมีสติและสัมปชัญญะมากกว่ากัน

…ปัญญาทางโลกนั้นรอบรู้ในเรื่องนอกกายและการจำได้หมายรู้ ส่วนปัญญาในทางธรรมคือรอบรู้ในกองสังขารรู้กาย รู้จิต รู้ความคิด รู้การกระทำมีองค์แห่งคุณธรรมคือหิริโอตตัปปะความละอายและเกรงกลัวต่อบาปคุ้มครองกายจิตอยู่ ความหมายของศัพท์ในภาษาโลกและภาษาธรรมจึงแตกต่างกัน…

…ฉะนั้น เพียงแต่ศึกษาธรรมะในเชิงปริยัติก็อย่าคิดว่าเข้าใจหมดแล้ว รู้หมดแล้วเพราะการเข้าใจโดยการตีความการวิภาค วิจารณ์ธรรม โดยเอาอัตตาของตนเข้าไปวิเคราะห์ธรรมนั้นยังไม่ถูกต้อง อย่าพยายามตีความขยายความเพื่อรองรับและเข้าข้างความคิดของตนเอง

…การศึกษาและการปฏิบัติธรรมนั้นมีหลักที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้ต้องทำตามหลักศึกษาตามหลักตามลำดับขั้นตอนไป ซึ่งธรรมะทั้งหลายทั้งปวงนั้น จะไม่มีการขัดแย้งกันแต่จะสงเคราะห์และอนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน เป็นเหตุและผลซึ่งกันและกัน…

…เพราะฉะนั้น เราต้องปรับความรู้ความเข้าใจของเราเข้าหาหลักธรรมไม่ใช่ตีความขยายความหลักธรรมให้มารองรับความคิดเห็นของเราสิ่งที่รู้ สิ่งที่เห็น สิ่งที่เข้าใจ ต้องเป็นไปตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่มีการขัดแย้งกัน สงเคราะห์กันได้กับธรรมทุกหมวดหมู่ สิ่งที่รู้ สิ่งที่เห็น สิ่งที่เข้าใจนั้นจึงถูกต้องตามหลักธรรม…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๕…