…คิดไป เขียนไป บทที่ ๒…
…”ความเบื่อกับอยากเป็นของคู่กัน”เมื่อความอยากเกิดขึ้นจิตก็ดิ้นรนขวนขวายหาเหตุและปัจจัยมาสนองตอบความอยากถ้าสนองตอบตัณหาความอยากได้ จิตก็ยินดีถ้าไม่ได้ตามที่ปรารถนา จิตมันก็เกิดปฏิฆะและเมื่อเสพในความอยากจนเต็มที่แล้ว จิตมันก็จะเบื่อในอารมณ์นั้น ความอยากในสิ่งอื่นก็เข้ามาแทนที่ เป็นเช่นนี้เรื่อยมาคือ “อยากๆเบื่อๆแล้วก็เบื่อๆอยาก ๆ” ตามกิเลสตัณหาที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงของอารมณ์
…ถ้าเราไม่รู้เท่าทันอารมณ์เหล่านี้ชีวิตของเราก็จะไม่มีความสุขเพราะเราต้องดิ้นรนขวนขวายหาปัจจัยมาสนองตอบตัณหาไม่สิ้นสุดแต่ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์รู้เท่าทันอารมณ์ รู้จักข่มซึ่งกิเลสดับตัณหาลงได้ ใจเราก็จะไม่เร้าร้อนไม่วุ่นวายทุรนทุรายเพราะตามใจกิเลส
…การที่จะข่มกิเลส ดับตัณหาลงได้นั้นต้องอาศัยปัญญา การคิดพิจารณาให้เห็นทุกข์ เห็นโทษของกิเลสตัณหาจนเกิดความเกรงกลัวและละอายในกิเลสตัณหานั้นขึ้นในจิต มันจะเกิดความยับยั้งขึ้นในจิต ทำให้เราไม่กล้าคิดและกล้าทำ องค์แห่งคุณธรรมได้เกิดขึ้นในจิตของเราแล้วและถ้าเราเพียงแต่คิดได้ แต่ยังทำไม่ได้นั้นแสดงว่าเรายังอ่อนกำลัง ยังเป็นผู้พ่ายแพ้ แพ้ต่อกิเลส แพ้ต่อตัณหายังเป็นผู้ห่างไกลจากองค์ธรรมเป็นได้เพียงใบลานเปล่า เป็นเช่นภาชนะที่มีรอยรั่ว มีประโยชน์ใช้สอยเพียงน้อยนิด เพราะแต่คิดแล้วไม่ทำ…
…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕…