บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๑๕

…บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๑๕…

…ทุกอย่างล้วนเป็นครูที่สอนธรรมให้แก่เรา ไม่ว่าความดีหรือความชั่วล้วนแล้วแต่เป็นครู สอนให้เรารู้ว่านี่คือความไม่ดี เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำสอนให้รู้ว่านี่คือความดี เป็นสิ่งที่ควรกระทำ ความดีและความเลวมีไว้ให้เปรียบเทียบกัน

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๑๕”

พอ

…ในสังคมที่แสนจะวุ่นวาย การแก่งแย่งแข่งขัน การเอารัดเอาเปรียบกันการแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง ล้วนเกิดจากเหตุผลของความไม่เพียงพอสาเหตุแห่งการไม่เพียงพอนั้น ก็เพราะว่าเกิดจากการไปเปรียบเทียบกับผู้อื่นกับคนที่มีมากกว่า อยากจะมีอยากจะได้ให้เท่ากับเขาหรือมีมากได้มากกว่าเขาและคนที่มีมากแล้วก็ยังอยากจะมีให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก เพราะใจของคนเหล่านั้นไม่รู้จักคำว่า “พอ” มันจึงนำมาซึ่งการแก่งแย่งแข่งขัน เอารัดเอาเปรียบกันเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ของตน จึงต้องดิ้นรนขวนขวายกันไปไม่มีวันหยุดเพราะเขาคิดว่าชีวิตของเขานั้นยังไม่ประสพกับความสำเร็จดั่งที่เขาตั้งใจไว้

อ่านเพิ่มเติม “พอ”

กลับคืนสู่ความเป็นสมณะไร้นาม

…กำลังจัดสรรค์บริหารเวลาของชีวิต หลังจากไปวุ่นวายอยู่กับธุรกิจทางโลกของหมู่คณะมามากมายหลายสิ่งอย่าง ถึงเวลาที่จะต้องปล่อยวางให้ทุกอย่างนั้นก้าวเดินไปด้วยตัวของมันเองตามเหตุและปัจจัยเป็นไปตามกำลังความรู้ความสามารถของผู้ปฏิบัติงานเราเป็นเพียงผู้ชี้ทาง การก้าวย่างเดินนั้นเป็นของตัวบุคคล…

…กลับคืนสู่ความเป็นสมณะไร้นามเดินไปตามความปรารถนาที่ได้ตั้งไว้ด้วยการกลับคืนสู่ป่าบำเพ็ญเพียรภาวนาเพราะว่าเวลาของชีวิตนั้นมันสั้นลงทุกขณะและจุดหมายปลายทางที่ตั้งไว้นั้นยังอยู่ไกลฝันเอาไว้ยาวไกลและต้องก้าวเดินไปให้ถึงตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจและไฟแห่งศรัทธา…

…ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร…
…๕ ธันวาคม ๒๕๕๔…

สั่งสอนใครสักคน

…การที่เราจะสั่งสอนใครสักคนนั้น มันไม่ใช่ที่จะสอนกันได้ง่าย ๆ เราต้องศึกษาชีวิตพื้นฐานความคิดและจิตสำนึกของเขาเสียก่อนทำความเข้าใจกับความคิดและชีวิตของเขา เราจึงจะได้กำหนดบทบาทและหากุศโลบายที่จะมาใช้ให้เหมาะกับเขา เรื่องเหล่านี้เป็นหลักจิตวิทยาที่ง่าย ๆ ที่บางครั้งเรานั้นอาจจะมองข้ามไป ไม่ได้นำมาใช้และพิจารณา ส่วนใหญ่เราจะใช้วาจาเพื่อเสาะหาข้อมูล ความคิดและจิตสำนึกของผู้อื่น มิได้สังเกตุพฤติกรรมของเขาเพราะการใช้วาจานั้น เราสามารถที่จะปั้นแต่งและจินตนาการออกมาเป็นคำพูดได้ซึ่งขึ้นอยู่กับการศึกษาและสำนวนโวหารประสพการณ์ในการพูดของเขาที่ออกมาบางครั้งมันเป็นมายามิใช่ของจริงเสมอไป แต่พฤติกรรมทางกายที่เขาเคยชินนั้นมันจะแสดงถึงตัวตนที่แท้จริงของเขา…

…ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร…
…๕ ธันวาคม ๒๕๕๔…

ทำให้ดู อยู่ให้เห็น สอนให้เป็น แล้วก็ปล่อย

…”ทำให้ดู อยู่ให้เห็น สอนให้เป็น แล้วก็ปล่อย” …

…เป็นคติธรรมที่ใช้ในการสอนศิษย์และคนใกล้ชิดทั้งหลาย เพื่อที่จะได้รู้พื้นฐานความคิดและจิตสำนึกของเขาเหล่านั้น ว่ามีพื้นฐานเป็นอย่างไร โดยการกระทำทางกายให้เห็น ทำให้เป็นตัวอย่าง ไม่ต้องกล่าวไม่ต้องสอนด้วยวาจาในเบื้องต้น บุคคลผู้มีจิตสำนึกที่ดี เขาจะจดจำแบบอย่างที่ดีที่เขาได้เห็นเอามาเป็นตัวอย่าง แล้วลงมือกระทำตาม ส่วนบุคคลที่มีจิตสำนึกปานกลางเขาจะจดจำแบบอย่าง แต่ยังไม่ลงมือกระทำ ส่วนคนที่มีจิตสำนึกต่ำ เขาจะไม่จดจำ ไม่สนใจและไม่เอาไปเป็นแบบอย่าง เรียกว่าการสอนโดยไม่ต้องสื่อภาษาทางวาจา แต่เป็นการกระทำทางกายให้เห็น…

…ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร…
…๕ ธันวาคม ๒๕๕๔…

เรียนรู้ชีวิตจริง จากสิ่งที่พบเห็น

…เรียนรู้ชีวิตจริง จากสิ่งที่พบเห็น…

๐ เก็บมา ใคร่ครวญ ขบคิด… ตั้งจิต สนใจ ใฝ่หา
เรียนรู้ กับโลก มายา… ค้นหา ให้เห็น ตัวตน
ค้นหา ให้เห็น พื้นฐาน… คือการ เรียนรู้ เบื้องต้น
รู้จิต รู้ใจ ของคน… เริ่มต้น ที่ตัว ของเรา
รู้กาย รู้จิต ของตัว… รู้ทั่ว รู้พร้อม ไม่เขลา
ตามดู รู้เห็น จิตเรา…. ขัดเกลา ฝึกจิต คิดดี
เมื่อไหร่ ที่เห็น จิตเรา…. ก็เข้า ใจซึ่ง จิตนี้
จิตเรา จิตเขา ที่มี… จิตนี้ ก็คล้าย คลึงกัน
ล้วนมี กิเลส ตัณหา… อัตตา ตัวตน ทั้งนั้น
ตามดู ตามรู้ ให้ทัน…. จิตนั้น เคลื่อนไหว ไปมา
เคลื่อนตาม สิ่งที่ กระทบ… เมื่อพบ เจอกับ ปัญหา
ผัสสะ ที่ผ่าน เข้ามา… ทางตา ทางลิ้น กายใจ
จิตนั้น เข้าไป รับรู้… ติดอยู่ จึงให้ หวั่นไหว
ปรุงแตก คล้อยตาม มันไป… หวั่นไหว เพราะจิต คิดตาม
หยุดคิด หยุดจิต ที่ปรุง…. เรื่องยุ่ง ก็จะ ก้าวข้าม
วางสิ่ง รู้เห็น ไม่ตาม… เห็นความ สงบ พบจริง
สยบ ซึ่งความ เคลื่อนไหว… ทำใจ ของเรา ให้นิ่ง
รู้เห็น ตามที่ เป็นจริง… ทุกสิ่ง สมมุติ ขึ้นมา
เข้าใจ ในพระ ไตรลักษณ์… รู้หลัก ต้นเหตุ ปัญหา
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ จากลา… อัตตา ก็จะ ลดลง…

…ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร…
…๔ ธันวาคม ๒๕๕๔…

แตกต่างทางความคิดแต่ชีวิตไม่แตกแยก

…แตกต่างทางความคิดแต่ชีวิตไม่แตกแยก… (กาพย์ยานี ๑๑)

…ร้อยเรื่องก็ร้อยรส นั้นปรากฏให้พบเห็น
ที่มีและที่เป็น ล้วนแตกต่างกันออกไป
ไม่เหมือนแต่ว่าคล้าย ต่างจุดหมายกันภายใน
ต่างคนก็ต่างใจ ล้วนคิดกันคนละทาง
เกิดจากความคิดเห็น จึงได้เป็นข้อแตกต่าง
อยู่ร่วมในเส้นทาง ความขัดแย้งนั้นจึงมี
ขัดแย้งทางความคิด แบ่งถูกผิดในทุกที่
มิตรภาพที่เคยดี ต่อกันนั้นสลายไป

…ความเห็นที่แตกต่าง อาจมีทางร่วมกันได้
ถ้าหากเราเข้าใจ ไม่ก้าวล้ำสิทธิกัน
แสวงหาซึ่งจุดร่วม เพื่อจะรวมสมานฉันท์
จุดต่างไม่ว่ากัน สงวนไว้ไม่ล่วงเกิน
ร่วมคิดและร่วมทำ เพื่อจะนำให้เจริญ
ร่วมสร้างเส้นทางเดิน สู่สังคมอุดมการณ์
เริ่มต้นจากตัวเรา แล้วจึงเอาไปเล่าขาน
ฝึกทำให้ชำนาญ ฝึกนึกคิดทำจิตดี

…ดีนอกและดีใน ดีทั้งใจและวจี
คิดทำแต่กรรมดี ฝึกจิตนั้นให้มั่นคง
มองโลกทั้งสองด้าน มองให้ผ่านอย่าไปหลง
ซื่อสัตย์และซื่อตรง ต่อหน้าที่ที่มีมา
มีความรับผิดชอบ ซึ่งประกอบด้วยปัญญา
ฝึกฝนและค้นหา เหตุปัจจัยประกอบกัน
เริ่มต้นจากความคิด เริ่มจากจิตสมานฉันท์
เคารพสิทธิกัน สังคมนี้ไม่วุ่นวาย….

…ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร…
…๕ ธันวาคม ๒๕๕๔…

ทุกชีวิตย่อมมีความผิดพลาด

….ทุกชีวิตย่อมมีความผิดพลาด มากบ้าง น้อยบ้าง เป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชนคนที่ยังไม่หมดกิเลส สติยังไม่สมบูรณ์เต็มพร้อมทุกขณะจิตความคิดและการกระทำย่อมอาจจะมีพลั้งเผลอ ไปตามกิเลสตัณหาและอุปทาน แต่เมื่อใดที่มีสติระลึกรู้แล้ว ควรห้ามจิตห้ามใจไม่กระทำในสิ่งนั้นต่อความรู้สึกส่วนลึกใต้จิตสำนึกของทุกคนนั้น ต่างก็อยากจะเป็นคนดีของสังคม แต่บางครั้งการมีทัศนคติต่อสังคมในแง่ร้ายของเขานั้นทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปโดยพฤติกรรมทางกายที่เรียกว่าการประชดสังคม อ้างว่าสังคมไม่ให้โอกาสเขา ทั้งที่ความจริงแล้ว สังคมเปิดโอกาสให้เขาอยู่ตลอดเวลา แต่ต้องใช้ระยะเวลาเป็นตัวพิสูจน์เพื่อให้สังคมยอมรับ

…เพราะความใจร้อนที่อยากจะได้ผลตอบรับโดยเร็วไว จึงทำให้คิดว่าสังคมไม่ให้โอกาสเขา ไม่ยอมรับในความดีที่เขาได้ทำซึ่งความสำเร็จทุกอย่างนั้น ต้องอาศัยความอดทน จังหวะเวลาโอกาศบุคคลและสถานที่มาเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความสำเร็จ ความยอมรับของสังคม การกระทำที่เสมอต้นเสมอปลายในสิ่งที่ดีทั้งหลายนั้นจะเป็นสิ่งพิสูจน์ให้สังคมเขายอมรับ….

…ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร…
…๕ ธันวาคม ๒๕๕๔…

บันทึกแห่งกาลเวลา จากภูผาถึงนาคร

๐ บันทึกแห่งกาลเวลา…จากภูผาถึงนาคร…

…บนเส้นทาง ของชีวิต ที่ผิดพลาด
เพราะประมาท มัวเมา และลุ่มหลง
สิ่งไม่ดี ทั้งหลาย ให้มึนงง
มันจึงส่ง ผลมา หาร่างกาย

…เพราะมัวเมา เหล้ายา สารพัด
จิตอ่อนหัด ไม่รู้เห็น ในความหมาย
ว่าที่ทำ นั้นเป็นภัย ต่อร่างกาย
เกือบจะสาย ก่อนที่จิต คิดได้ทัน

…คิดว่าเป็น ทางสุข กลับทุกข์หนัก
ไม่รู้จัก ความดีชั่ว เพราะโมหัน
หลงในกิน กามเกียรติ ทุกคืนวัน
สารพัน สารพัด ที่จัดมา

…ไม่รู้จัก บาปบุญ คุณและโทษ
ถือประโยชน์ ส่วนตน เป็นเนื้อหา
ทำอย่างไร ให้ได้มี และได้มา
สนองตอบ ตัณหา ของตัวตน

…จนวันหนึ่ง ได้รู้ซึ้ง ถึงทางจิต
มีความคิด และเข้าใจ ในเหตุผล
จึงถอนตัว ออกห่าง ทางมืดมน
ไปสู่หน ทางใหม่ ไม่กลับมา

…ละทางโลก สู่ทางธรรม น้อมนำจิต
เปลี่ยนความคิด มุมมอง และเนื้อหา
เข้าสู่การ ลดละ ซึ่งอัตตา
ใช้ปัญญา มองสิ่งเห็น ให้เป็นธรรม

…ทุกอย่างนั้น เกิดจาก จิตสำนึก
ความรู้สึก ส่วนใน ไม่ใฝ่ต่ำ
กระตุ้นเตือน ความคิด และชี้นำ
คิดแล้วทำ ตามจิต ที่คิดดี

…ความคิดนั้น เป็นเพียง นามธรรม
จึงต้องนำ มาทำ ให้เต็มที่
รูปธรรม ทำให้เห็น และให้มี
ทำให้ดี ตามที่จิต นั้นคิดมา….

…ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม.วจีพเนจร…
…๔ ธันวาคม ๒๕๕๔…

การปฏิบัติธรรม

…การปฏิบัติธรรม เป็นการกระทำที่เริ่มจากจิต จากความคิด แล้วแสดงออกมาซึ่งทางกาย การปฏิบัติธรรมนั้น มิใช่เป็นไปเพื่อความโอ้อวดเพื่อให้ผู้อื่นเขายกย่องสรรเสริญชื่นชมแต่เป็นการอบรมกายและจิตของเรา โดยมีสติและสัมปชัญญะควบคุมอยู่มีความระลึกรู้และมีความรู้ตัวทั่วพร้อมในกายในจิตในความคิดและการกระทำเพิ่มพูนคุณธรรมให้แก่จิตปรับเปลี่ยนความคิดเพื่อให้จิตเป็นบุญกุศลไม่เอาแต่ความคิดตนมาเป็นใหญ่ เปิดจิตเปิดใจให้เปิดกว้างพิจารณาทุกอย่างโดยเหตุและผล ไม่เห็นแก่ประโยชน์ตนจนเกินไปรู้จักการให้และการแบ่งปัน สิ่งที่กล่าวมานั้นคือการปฏิบัติธรรม…

…ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร…
…๔ ธันวาคม ๒๕๕๔…