น้อมระลึกถึงบารมีคุณ

…น้อมระลึกถึงบารมีคุณ…

…หลวงพ่อพุทธทาส ได้ละสังขารกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ สิริรวมอายุ ๘๗ ปี นับได้ ๖๗ พรรษา

…ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้หลวงพ่อพุทธทาส เป็นบุคคลสำคัญของโลก…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕…

กระแสธรรมพัดผ่านกาลเวลา

…กระแสธรรมพัดผ่านกาลเวลา…

…โกโธ ธัมมานัง ปริปันโถ ความโกรธเป็นอันตรายต่อสติและปัญญาของตนเองถ้าเผลอสติหลงไปกับอารมณ์นั้น มันจะเป็นการทำลายตนเอง ความโลภและความโกรธจึงเป็นอันตรายต่อธรรมทั้งหลาย ทำลายชื่อเสียง เกียรติยศและความดีทั้งหลายให้พังพินาศลง…

อ่านเพิ่มเติม “กระแสธรรมพัดผ่านกาลเวลา”

บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๔๙

…บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๔๙…

…ปรารภธรรมกับชีวิตในยามค่ำคืน…
…ชีวิตก้าวข้ามความตายมาหลายครั้ง ในสมัยที่ยังไม่รู้จักคุณค่าของชีวิตเดินอยู่บนเส้นทางที่พลาดผิดห่างไกลจากธรรม เพลิดเพลินในการประกอบกรรมอันเป็นอกุศล โดยไม่มีความรู้สึกรักตัวและกลัวตายในสิ่งที่ทำ ชีวิตที่รอดมาได้จนถึงวันนี้มันจึงคือกำไรของชีวิต เมื่อมีความรู้สึกสำนึกผิดชีวิตที่เหลือก็ไม่มีอะไรที่น่ากลัว

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๔๙”

บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๒๘

…บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๒๘…

…การปฏิบัติธรรมคือการทำสิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้น แล้วรักษาสิ่งที่มีมิให้เสื่อมสลาย ให้ดำรงทรงไว้และขั้นสุดท้ายคือการสลาย ทำเหมือนมันไม่มีอะไร

…สูงสุดคืนสู่สามัญ นั้นคือการเข้าสู่อารมณ์วิปัสสนา มีสติและสัมปชัญญะความระลึกรู้ ความรู้ตัวทั่วพร้อมคุ้มครองกายคุ้มครองจิตอยู่ทุกขณะเป็นสภาวะของความเป็นปกติไม่มีรูปแบบ ไม่มีกระบวนท่ากระบี่อยู่ที่ใจ เก็บงำประกายรู้อยู่ภายใน ไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงออก การปฏิบัติธรรมนั้นคือการทำที่จิตไม่ใช่อยู่ที่รูปแบบทางกาย มิได้ทำไปเพื่อให้ผู้อื่นมาชื่นชม ยกย่องสรรเสริญ มิใช่การแสดง สภาวธรรมทั้งหลายเป็นของเฉพาะตน รู้ได้ด้วยตนพิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติให้จริงสภาวธรรมนั้นเป็นเรื่องปัจจัตตังคือการรู้ได้เฉพาะตน…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔…

ทบทวนธรรม ย้ำเตือนจิต

…ทบทวนธรรม ย้ำเตือนจิต…

…ทำเพื่อคนอื่นมามากแล้ว ต่อไปเป็นการกระทำเพื่อตนเองบ้าง ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว แต่เราต้องเอาตัวเราให้รอดเสียก่อน จึงจะไปช่วยคนอื่นเขายังมีกิเลส ตัณหา อุปาทาน อีกมากมายในจิตเรา ที่ยังไม่ได้เข้าไปจัดการทั้งที่ได้เห็นแล้วและที่ยังไม่ได้เห็นพลังจิต ฤทธิ์ อภิญญา กับขบวนการลดละกิเลสนั้น มันคนละเรื่องกันขบวนการลดละกิเลสตัณหานั้นเป็นเรื่องของสติและสัมปชัญญะหิริและโอตตัปปะ

…ส่วนเรื่องพลังจิตและฤทธิ์นั้นเป็นเรื่องของสมาธิซึ่งทำได้ทั้งสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิคือสมาธิในระบบพระพุทธศาสนาและสมาธินอกระบบพระพุทธศาสนาสมาธิในระบบพระพุทธศาสนานั้นมีเจตนาเพื่อความดับทุกข์ เพื่อถอนมานะละตัณหา ลดอัตตา ฆ่าอุปาทานเป็นบาทฐานของปัญญา เพื่อยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา รอบรู้ในกองสังขารคือสติปัฏฐาน ๔ ส่วนสมาธิที่ปฏิบัติเพื่อความอยากมีอยากได้ทั้งหลายนั้นเป็นสมาธินอกระบบของพระพุทธศาสนาเพราะมีเจตนาแตกต่างกันในการกระทำ…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕…

จิตระลึกถึงธรรมไปตามกาล

…จิตระลึกถึงธรรมไปตามกาล…

“ความบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์
เป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะ
ทำให้คนอื่นบริสุทธิ์ไม่ได้ ”
“ สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ
นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย ”
…พุทธสุภาษิต ธรรมบท ๒๕/๓๑…

…การเจริญจิตภาวนานั้นเป็นการกระทำที่จิตก็จริงอยู่ แต่จิตต้องอยู่กับกาย มีความสัมพันธ์กันจิตระลึกรู้อยู่ในกาย ไม่ส่งจิตออกนอกกาย อันเป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นเพราะจิตส่งออก

…ในความไร้รูปแบบนั้น คือความเป็นไปตามความเหมาะสม ตามจังหวะเวลา โอกาส สถานที่และบุคคลการเลือกหาวิธีการที่เหมาะสมที่จะกระทำได้ในขณะนั้น นำมาประพฤติปฏิบัติเพื่อไม่ให้ขัดทั้งในทางโลกและในทางธรรมดำเนินไปในความเป็นปกติ

…การไร้รูปแบบนั้น มันก็มีรูปแบบของมันในตัวเองเสมอ ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝนในรูปแบบมาก่อน จนมีความรู้ ความเข้าใจและชำนาญในรูปแบบมาก่อนแล้ว จึงจะละรูปแบบมาสู่รูปแบบที่ไร้กฎเกณฑ์กติกา ไร้การยึดติด มาทำที่จิตโดยทิ้งรูปแบบทางกาย ไม่ใช่การทอดทิ้งธุระ ที่กระทำไปเพราะความมักง่าย อันเกิดจากอกุศลจิตคือความเกียจคร้าน ความไม่ชอบใจทั้งหลาย แต่เกิดจากความรู้ความเข้าใจแล้วจึงปล่อยวาง…

อ่านเพิ่มเติม “จิตระลึกถึงธรรมไปตามกาล”

ใคร่ครวญธรรมย้ำเตือนจิต

…ใคร่ครวญธรรมย้ำเตือนจิต…

…ธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสสอนว่าเป็นเครื่องกระทำให้เป็นสมณะ

๑. พึงศึกษาว่า เราทั้งหลายจักประกอบด้วย หิริ ความละลายต่อความชั่ว โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความชั่ว

๒. พึงศึกษาว่า เราจักมีกายสมาจารคือความประพฤติทางกายที่บริสุทธิ์ที่ตื้น ที่เปิดเผย ไม่เป็นช่อง ประกอบด้วยความสำรวม ทั้งจะไม่ยกตนข่มท่าน ด้วยข้อนั้น

๓. พึงศึกษาว่า เราจักมี วจีสมาจาร คือประพฤติทางวาจา ได้แก่คำพูดที่บริสุทธิ์

๔. พึงศึกษาว่า เราจักมี มโนสมาจาร คือความประพฤติทางใจ คือความคิดอันบริสุทธิ์

อ่านเพิ่มเติม “ใคร่ครวญธรรมย้ำเตือนจิต”

บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๔๘

…บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๔๘…

…“ปิยานํ อทสฺสนํ ทุกฺขํ อปฺปิยานญฺจ ทสฺสนํ ตสฺมา ปิยํ น กยิราถ ปิยาปาโย หิ ปาปโก”

“การไม่เห็นสิ่งที่รักเป็นทุกข์ และการเห็นสิ่งที่ไม่รักก็เป็นทุกข์ เหตุนั้น จึงไม่ควรทำอะไรให้เป็นที่รัก เพราะความพรากจากสิ่งที่รัก”
เป็นการทราม (ขุ.ธ. ๒๕/๔๓)….

…ใคร่ครวญทบทวนธรรมน้อมเข้าสู่ภายในถึงความเป็นไปของกายและจิตที่ได้ผ่านมา และที่กำลังเป็นอยู่ เพื่อค้นหาตัวตนที่แท้จริงค้นหากิเลสและกรรมที่ทำให้เป็นไป ตามเหตุและปัจจัยของอุปธิทั้งหลายที่มีอยู่

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกไว้เพื่อความทรงจำ บทที่ ๔๘”

บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๒๗

…บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๒๗…

…ระลึกนึกถึงคำกล่าวของครูบาอาจารย์ที่ท่านได้กล่าวสอนไว้ว่า “เมื่อหยุดคิดหยุดปรุงแต่งและวางทุกสิ่งลงได้ ทั้งสิ่งที่รู้และสิ่งที่ถูกรู้ทั้งปวง สัจธรรมจริงแท้ก็จะปรากฏขึ้นมาให้รู้เห็นเอง”

…มันเป็นเช่นนี้เอง…

๐ รอนแรม มาเรียงราย
สู่จุดหมาย ที่เดียวกัน
ตามล่า หาความฝัน
จึงได้เป็น อย่างเห็นมา

๐ ตามแนว ของพุทธะ
สมณะ ผู้ค้นหา
สำรวม กายวาจา
ตั้งใจสู่ เส้นทางธรรม

๐ ฝึกฝน ปฏิบัติ
อย่างเคร่งครัด ไม่ใฝ่ต่ำ
คิดชอบ ประกอบกรรม
กุศลนี้ จึงได้มา

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๒๗”

ระลึกถึงธรรม ย้ำเตือนจิต

…ระลึกถึงธรรม ย้ำเตือนจิต…

…ทบทวนธรรมเรื่องมรรคองค์ ๘ …

…อริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลางแห่งการดำเนินชีวิตที่ไม่ผิดทำนองคลองธรรม ซึ่งมีหลายระดับชั้นตามกำลังของผู้ปฏิบัติ อย่างหยาบปานกลางและละเอียดตามความเหมาะสมของภูมิธรรมของแต่ละบุคคล อันได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นที่ถูกต้องรู้จักผิดชอบชั่วดี เห็นในความเป็นจริงแยกแยะกุศลและอกุศล

๒. สัมมาสังกัปปะ คือความรู้สึกนึกคิดที่จะไม่ทำในสิ่งที่ผิด อันเป็นอกุศลทั้งหลาย

๓. สัมมาวาจา คือการสำรวมในการพูดการเจรจา ไม่ก่อให้เกิดปัญหามีวาจาที่สุภาพอ่อนโยน

๔. สัมมากัมมันตะ คือการทำงานที่ไม่สร้างความเดือดร้อน เบียดเบียนผู้อื่น และไม่ผิดกฎหมายศีลธรรม

๕. สัมมาอาชีวะ คือการประกอบอาชีพที่สุจริตไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรม

๖. สัมมาวายามะ คือความเพียรพยายามควบคุมจิต ระวังบาปอันเป็นอกุศลธรรมไม่ให้เกิดขึ้น ละบาปอันเป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไปพยายามสร้างกุศลตัวใหม่ให้เกิดขึ้นกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วรักษาให้เจริญยิ่งขึ้น

๗. สัมมาสติ คือการมีสติระลึกรู้อยู่เสมอในสิ่งที่เป็นบุญและบาปและเตือนสติไม่ให้คล้อยไปในอกุศลธรรม

๘. สัมาสมาธิ คือการมีความแน่วแน่ตั้งมั่นในสิ่งที่กำลังกระทำ โดยมีสัมมาสติควบคุมอยู่

…ที่กล่าวมานี้คือมรรคอันมีองค์ ๘ สำหรับฆราวาสผู้ครองเรือนที่สามารถจะนำไปประพฤติปฏิบัติได้โดยที่ไม่ขัดกัน ทั้งในทางโลกและทางธรรม ส่วนอริยมรรคอันมีองค์๘ของสมณะนั้นจะละเอียดยิ่งไปกว่านี้เพราะบทบาทและหน้าที่สถานะนั้นแตกต่างกัน ซึ่งถ้าเรารู้บทบาทและหน้าที่ของเราแล้ว การดำเนินชีวิตก็จะไม่ผิดทำนองคลองธรรม…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕…