รำพึงธรรมกับสายลมที่พัดผ่าน

…รำพึงธรรมกับสายลมที่พัดผ่าน…

…ถามตัวเองอยู่เสมอว่า วันเวลาที่ผ่านไป เราได้อะไรจากวันเวลา และคุ้มค่ากับวันเวลาที่ผ่านไปหรือไม่ เพื่อไม่ให้เราหลงไปกับวัยและเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ และจะได้รีบเร่งสร้างคุณค่าให้แก่ชีวิต แม้เพียงน้อยนิดก็ยังดีกว่าที่จะไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้มุ่งหวังว่าต้องเป็นชาตินี้หรือชาติหน้า เพียงแต่ตั้งใจไว้ว่าทำต่อไปเรื่อย ๆ ถึงเมื่อไหร่ก็ไปเมื่อนั้นจะไม่สร้างความกดดันให้กับตัวเอง เพราะจะทำให้เกิดอาการเกร็งแล้วเข้าไปเคร่ง ซึ่งมันจะทำให้เครียด

…“อนากุลา จ กมฺมนฺตา เอตมฺมํ คลมุตฺตมํ” การทำงานไม่คั่งค้างเป็นมงคลอันประเสริฐเพราะทำให้เราตัดกัมมะปลิโพธออกไปได้ ถ้าการงานที่เราทำนั้นยังทำไม่เสร็จมันทำให้ค้างคาใจอดคิดถึงมันไม่ได้ และเมื่องานนั้นเสร็จสำเร็จไปแล้วอารมณ์ปีติมันก็จะเกิด ทำให้มีกำลังใจเพิ่มขึ้น พยายามทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง อย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านสอนและท่านได้กระทำมา…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม…
…๒๐ เมษายน ๒๕๖๔…

รำพึงธรรมและคำกวีที่เถียงนาน้อย

…รำพึงธรรมและคำกวีที่เถียงนาน้อย…

“ถ้ากำจัด..ความมีตัวกู..นี้ออกเสียได้
นั่นแหละ คือ ยอดแห่งความสุข”
“อสฺมิมานสฺส วินโย เอตํ เว ปรมํ สุขํ”
พุทธสุภาษิต มุจจลินทสูตร ๒๕/๗๔

“การมีกัลยาณมิตร เป็นชีวิตประเสริฐทั้งหมด”
“สกลเมว หิทํ พฺรหฺมจริยํ ยทิทํ กลฺยาณมิตฺตตา”
พุทธสุภาษิต อุปัฑฒสูตร ๑๙/๒

“ความไม่ประมาท เป็นยอดแห่งธรรมทั้งปวง”
“อปฺปมาโท เตสํ ธมฺมานํ อคฺคมกฺขายติ”
พุทธสุภาษิต คถาคตสูตร ๑๙/๖๗

…เอาอดีต นั้นมา ศึกษาต่อ
เพื่อจะก่อ กำหนด ทิศทางใหม่
ให้ชีวิต นั้นก้าวเดิน กันต่อไป
กำหนดได้ โดยเงื่อนไข การกระทำ

…จงกระทำ ในวันนี้ ให้ดีสุด
จงอย่าหยุด การทำดี จงชี้ย้ำ
สิ่งใดชอบ ประกอบดี จงชี้นำ
กุศลกรรม นั้นจงสร้าง บนทางเดิน

…สร้างพื้นฐาน ความคิด จิตกุศล
สร้างมงคล แก่ชีวิต จิตอย่าเขิน
จงทำดี ให้มันมี ความเพลิดเพลิน
ความเจริญ จะปรากฏ กำหนดไป

…อดีตนั้น คือสิ่ง ที่พ้นผ่าน
คือเหตุการณ์ ที่ไม่อาจ จะแก้ไข
อนาคต นั้นกำหนด กันต่อไป
โดยสร้างเหตุ ปัจจัย ปัจจุบัน

…ทำวันนี้ ให้มันดี ชี้ทางสุข
ก้าวพ้นทุกข์ พบสุข ซึ่งสิ่งขวัญ
ชีวิตนี้ ก้าวต่อไป ในทุกวัน
จงต่อฝัน สร้างเสริม เพิ่มศรัทธา

…จงเชื่อมั่น ในความดี สิ่งที่คิด
จงตั้งจิต ฝึกฝน และค้นหา
จงสร้างเสริม เติมรัก และศรัทธา
วันข้างหน้า อนาคต กำหนดไป…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๔ มิถุนายน ๒๕๖๕…

รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๙๔

…รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๙๔…

…ผู้ชี้ขุมทรัพย์…

…อานนท์ ! เราไม่พยายามทำ
กะพวกเธอ อย่างทะนุถนอม
เหมือนพวกช่างหม้อ ทำแก่หม้อ
ที่ยังเปียก ยังดิบอยู่
อานนท์ ! เราจักขนาบแล้ว
ขนาบอีก ไม่มีหยุด
อานนท์ ! เราจักชี้โทษแล้ว
ชี้โทษอีก ไม่มีหยุด
ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร
ผู้นั้นจักทนอยู่ได้…
อุปริ. ม. ๑๔/๒๔๕/๓๕๖.

…คนเรา ควรมองผู้มีปัญญาใด ๆ
ที่คอยชี้โทษ คอยกล่าวคำขนาบ
อยู่เสมอไป ว่าคนนั้นแหละคือ
ผู้ชี้ขุมทรัพย์ ควรคบบัณฑิต
ที่เป็นเช่นนั้น เมื่อคบหากับ
บัณฑิตชนิดนั้นอยู่ ย่อมมีแต่ดี
ท่าเดียว ไม่มีเลวเลย…
ธ. ขุ. ๒๕/๒๕/๑๖.

…กล่าวธรรมย้ำเตือนตนอยู่เสมอว่าอย่าเอาตัณหาของตัวเรานั้น ไปยัดเยียดให้ผู้อื่นเขาตอบสนองตัณหาของตัวเรา จงกล่าวธรรมเพื่อธรรม กล่าวธรรมโดยธรรม ให้เป็นไปตามธรรมแล้วจะบังเกิดความเจริญในธรรม..เมื่อยังไม่ถึงกาลเวลาที่เหมาะสมจิตย่อมเข้าไม่ถึงธรรม จึงยากที่จะอธิบายธรรม บรรยายธรรมให้เข้าใจได้ อดทนรอให้เขาพร้อม จึงกล่าวธรรม…

…เพราะว่าคนเรานั้น เมื่อยังมีหนทางไป ใจย่อมไม่นึกถึงธรรมแต่ในยามที่ต้องชอกช้ำ หมดสิ้นหนทางไปใจย่อมแสวงหาที่พึ่งพระธรรมจึงเป็นตัวเลือกหนึ่ง เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ…

…กาลเวลานั้นหมุนเวียนเปลี่ยนไปไม่มีการสิ้นสุดแต่จิตของมนุษย์นั้นสิ้นสุดได้ เมื่อรู้จักพอ…

…จงเป็นผู้ให้ อย่าได้เป็นผู้ร้องขออย่านั่งรอ นอนรอ โอกาสวาสนาจงเพียรเสาะแสวงหา สร้างบุญบารมี สะสมความดีให้แก่ตนเพื่อให้เป็นเหตุเป็นปัจจัยในภายภาคหน้า เพราะสิ่งนั้นจะนำมาซึ่งวาสนาบารมี…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๔ มิถุนายน ๒๕๖๕…

เรียงร้อยธรรมไปตามกาล บทที่ ๙๔

…เรียงร้อยธรรมไปตามกาล บทที่ ๙๔…

…ย้ำเตือนตนอยู่ตลอดว่า จงทำตนให้เป็นคนเลี้ยงง่าย มีกิจวัตรประจำวันที่เรียบง่ายใจก็จะโปร่งสบาย ทำให้การเจริญสติภาวนาปฏิบัติจึงทำได้ง่าย สมาธิก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายความวุ่นวายก็น้อยลง ความกังวลยึดติดก็จะเบาบางลง…

…อย่าไปวุ่นวายใจกับคำนินทา เราไม่เก็บคำนินทามาคิด จิตเราก็จะสบาย คำติฉินนินทานั้นคือยาชูกำลัง ที่จะยับยั้งไม่ให้เราหลงระเริง คำนินทานั้นคือสิ่งกระตุ้นเตือนตัวเรา เขาติดีกว่าเขาชม ทำให้เรารู้ตัวว่าเขาคิดอย่างไรกับเรา ซึ่งถ้าเราอย่างที่เขานินทานั้น เราก็จะได้รู้และปรับปรุงแก้ไขแล้วเราจะไปโกรธเขาทำไม ซึ่งถ้าเราไปโกรธเขา ก็เท่ากับว่าเรานั้นกำลังแพ้ภัยกิเลสในใจของเรานั้นเอง…

อ่านเพิ่มเติม “เรียงร้อยธรรมไปตามกาล บทที่ ๙๔”

ระลึกธรรมและคำกวีเพื่อย้ำเตือนตน

…ระลึกธรรมและคำกวีเพื่อย้ำเตือนตน…

…“คนดีชอบแก้ไข คนจัญไรชอบแก้ตัว”…

…เมื่อคิดดี พูดดี แล้วจงทำดี อย่าดีแต่พูด อย่าทำตัวเป็นพวกทฤษฎีจัด ปฏิบัติทราม…

…มัวแต่มอง จ้องผิด คนอื่นเขา
ตัวเราเป็น อย่างไร ไม่เคยรู้
จิตคิดเลว อย่างไร ไม่เคยดู
เรื่องคนอื่น เที่ยวรู้ ไปรอบทิศ…

… มัวแต่มอง จ้องผิด คนอื่นเขา
กิเลสเรา เป็นอย่างไร ไม่เคยคิด
ไม่ถูกใจ ก็บอก ว่ามันผิด
ไม่เคยคิด มองหา กิเลสตน

…ถ้าถูกใจ ก็ชอบ บอกว่าใช่
ไม่ถูกใจ ก็ไร้ ซึ่งเหตุผล
มีข้ออ้าง มาแก้ ดีใส่ตน
ปัดชั่วพ้น จากตัว เพราะกลัวภัย

…ถ้าจะติ ติเพื่อก่อ พอรับได้
จะนำไป ปรับปรุง และแก้ไข
แต่ถ้าติ เพื่อทำลาย ไม่ใส่ใจ
ไม่เก็บไว้ รกสมอง ของไม่ดี

…กิเลสเรา มากมาย เกินจะนับ
ยังไปรับ กิเลสเขา เอาทุกที่
จ้องจับผิด กิเลสเขา ว่าเราดี
กลับทวี เพิ่มกิเลส มาใส่ตัว

…จงใคร่ครวญ พินิจ คิดศึกษา
อย่านำพา ดวงจิต ไปคิดชั่ว
เตือนสติ เตือนตน อย่าเมามัว
อย่าแก้ตัว จงแก้ไข ให้เร็วพลัน

…เพราะคนดี นั้นชอบ การแก้ไข
คนจัญไร แก้ตัว เพราะโมหัน
ติเพื่อก่อ อย่าทำลาย ให้ร้ายกัน
มาสร้างสรรค์ กันดีกว่า อย่าทำลาย

…ไม่มีใคร รู้ซึ้ง เท่าหนึ่งจิต
สิ่งที่คิด ที่ทำ ที่มุ่งหมาย
ความดีชั่ว อยู่กับตัว จนวันตาย
แม้ร่างดับ ลับหาย คนยังชัง….

…มอบไว้เพื่อเตือนสติทุกๆท่านที่ได้เข้าอ่านบทความและบทกวีที่ผ่านมา…

…ขอความสุขสวัสดี จงมีแด่ผู้ใฝ่ธรรม…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
… ๓ มิถุนายน ๒๕๖๕…

ธรรมะทั้งหลายเป็นเรื่องใกล้ตัว

…ธรรมะทั้งหลายเป็นเรื่องใกล้ตัวและทุกท่านก็ได้ปฏิบัติอยู่ในกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว เพราะว่าการปฏิบัติธรรมนั้นคือการทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ตามหลักของมรรคองค์ ๘ มีสติระลึกรู้อยู่ในสิ่งที่คิดและกิจที่ทำ มีองค์แห่งคุณธรรมคือความละอายและเกรงกลัวต่อบาปกรรมคุ้มครองจิตอยู่ก็ได้ชื่อว่าผู้นั้นกำลังปฏิบัติธรรมอยู่…

…ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร…
…๔ ธันวาคม ๒๕๕๔…

บางบทบาทที่ไม่อยากแสดงออก

…บางบทบาทที่ไม่อยากแสดงออกนั้น ในบางครั้งก็ต้องจำใจแสดงไปตามบทบาทเพื่อให้เข้ากับ จังหวะ เวลา โอกาส สถานที่และบุคคล ซึ่งทุกอย่างนั้นมันมีเหตุและผลอยู่ในตัวของมันเอง ขอเพียงให้เรารู้ในสิ่งที่กำลังคิดและกิจที่กำลังทำก็ชื่อว่าได้กำลังปฏิบัติธรรม กำลังเจริญสติอยู่ในขณะนั้น

…ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร…
…๔ ธันวาคม ๒๕๕๔…

บันทึกแห่งกาลเวลา…ฝากสายลม…ผ่านร่มไม้…จากภูผา

๐ บันทึกแห่งกาลเวลา…ฝากสายลม…ผ่านร่มไม้…จากภูผา ๐

…คนเหมือนกัน แต่ต่างกัน ที่ความคิด
เพราะว่าจิต พื้นฐาน นั้นแตกต่าง
และมีจุด เริ่มต้น คนละทาง
เกิดช่องว่าง ระหว่างจิต คิดต่างกัน

…ในความเห็น นั้นอาจ จะแตกต่าง
แต่มีทาง ที่จะร่วม สมานฉันท์
แสวงหา ซึ่งจุดร่วม มารวมกัน
จุดต่างนั้น สงวนไว้ ไม่ล้ำกัน

…ควรอ่อนน้อม ถ่อมตน ให้คนรัก
ควรรู้จัก การผูกจิต คิดสร้างสรรค์
ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมแบ่งปัน
สิ่งเหล่านั้น จะผูกมิตร และจิตใจ

…คนโบราณ กล่าวไว้ ให้น่าคิด
คนจะงาม งามที่จิต จึงสดใส
คนจะรวย ก็รวยที่ มีน้ำใจ
คนจะแก่ ใช่แก่วัย มีปัญญา

…สิ่งเหล่านั้น เราท่าน ต่างก็รู้
พบเห็นอยู่ แต่ไม่คิด ถึงเนื้อหา
เพียงผ่านหู ผ่านใจ และผ่านตา
ไม่นำมา พินิจ และคิดตาม

…คนมากมาย ที่รู้ธรรม และเห็นธรรม
แต่ไม่นำ ปฏิบัติ เพราะมองข้าม
เพียงแต่รู้ เพียงแต่เห็น แต่ไม่ตาม
เกิดคำถาม ว่าทำไม ไม่เจริญ

…ไม่เจริญ ในธรรม เพราะจำได้
รู้กันไป แต่ไม่ทำ ก็เคอะเขิน
รู้ท่วมหัว แต่ทำตัว ไม่เจริญ
เพราะรู้เกิน และรู้มาก จึงยากนาน

…รู้อะไร ก็ไม่สู้ เท่ารู้จิต
รู้ความคิด ทั้งดีชั่ว รู้แก่นสาร
รู้จังหวะ รู้เวลา รู้เหตุการณ์
รู้ด้วยญาณ นิมิต จิตถึงธรรม….

…ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร…
…๔ ธันวาคม ๒๕๕๔…

กรรมจำแนกสัตว์และบุคคลให้แตกต่างกัน

…กรรมจำแนกสัตว์และบุคคลให้แตกต่างกัน…

…ในปัจจุบันนี้มีผุ้ที่สนใจในการปฏิบัติธรรมมากขึ้นโดยเฉพาะคนหนุ่มสาววัยทำงาน เพราะช่วงชีวิตวัยนี้ต้องวุ่นวายกับการทำมาหาเลี้ยงชีพและสร้างครอบครัวต้องเจอะเจอภาวะความกดดันหลายด้านในชีวิตการงานและชีวิตครอบครัว ชีวิตเต็มไปด้วยความวุ่นวายและความกดดัน จนทำให้เกิดอาการเครียด

อ่านเพิ่มเติม “กรรมจำแนกสัตว์และบุคคลให้แตกต่างกัน”

คือดอกไม้

คือดอกไม้ ตามรายทาง ที่ย่างผ่าน
ได้พบพาน จึงบันทึก เก็บรักษา
เก็บเพียงภาพ ความทรงจำ นำกลับมา
ดอกไม้ป่า นั้นควรอยู่ คู่พงไพร…

…ด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม-วจีพเนจร…
…๔ ธันวาคม ๒๕๕๔…