บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๙๐

…บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๙๐…

…ในยุคสมัยของโลกที่กำลังสับสนวุ่นวายผู้คนขาดที่พึ่งทางใจ เพราะหลงใหลติดอยู่กับวัตถุนิยมและลัทธิการเสพติดข่าวสารทำให้ห่างเหินจากหลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาพุทธเจ้า และเมื่อชีวิตประสพกับอุปสรรคปัญหา ไม่เป็นไปอย่างที่มุ่งหวังตั่งใจไว้ ใจก็เกิดความทุกข์ ความวุ่นวายเพราะหาทางออกไม่ได้

…จึงมีคนจำนวนหนึ่งหันกลับมาสนใจคำสอนในพระบวรพุทธศาสนา หันเข้าศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมกันมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนี้มีความสะดวกสบาย สามารถหาข้อมูลได้ง่ายเกี่ยวกับหลักธรรมและแนวทางปฏิบัติ ซึ่งในการศึกษาหาข้อมูลสำหรับการปฏิบัติธรรมนั้น เราต้องใช้วิจารณญาณเลือกเฟ้นกัมมัฏฐานให้เหมาะสมกับจริตของเรา

…“อย่าเชื่อทันที ที่ได้ยินได้ฟังได้อ่านเพราะอาจจะนำไปสู่ความงมงาย” และ “อย่าปฏิเสธทันที ที่ได้ยินได้ฟังได้อ่านเพราะอาจจะทำให้เรานั้นเสียโอกาสขาดประโยชน์” เรา ควรพิจารณาไตร่ตรองให้รอบครอบ ควรจะทดลองพิสูจน์ฝึกฝนที่ใจตนให้เกิดความกระจ่างชัดแล้วจึงเชื่อหรือปฏิเสธ

…ขบวนการที่กล่าวมานั้นเรียกว่า “ปริยัติ” เพราะเราต้องมีความรู้พื้นฐานมีข้อมูลและมีแนวทางในการปฏิบัติ รู้ว่าการปฏิบัตินั้นเป็นกรรมฐานในกองใดในกรรมฐาน ๔๐และการปฏิบัตินั้น เป็นสมถะกัมมัฏฐานหรือว่าเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อจะไม่ได้หลงทางในการปฏิบัติ…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔…

บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๙

…บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๙…

…“เมื่อเราเพียรเพ่งดูจิต ดูความคิด
ให้จิตอยู่กับตนเองตลอดเวลา
เราก็จะเข้าใจในสังขาร
ร่างกายและจิตของเรา”….

…“ความว่างทางจิตนั้น
คือความว่างจากอารมณ์ยินดี ยินร้าย
แต่ไม่ว่างจากตัวรู้ ยังตามดูตามเห็น
แต่จิตไม่ไปคิดปรุงแต่ง”….

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔…

บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๘

…บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๘…

…รางวัลแห่งความสำเร็จของชีวิตนั้นมิได้วางไว้ที่จุดเริ่มต้น แต่อยู่ที่ปลายทาง ตราบใดที่ยังมีลมหายใจชีวิตนี้ยังไม่สิ้นหวัง ทุกสิ่งที่ผ่านมามันไม่ใช่ความล้มเหลวหรือความผิดพลาด แต่มันเป็นบทเรียนหนึ่งของชีวิตที่ต้องเรียนรู้ จงเอาอดีตที่ผ่านมานั้นมาเป็นครู สอนให้เราเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่กับปัจจุบัน…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔…

บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๗

…บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๗…

…มีพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศีลเป็นพื้นฐานเป็นที่รองรับคุณอันยิ่งใหญ่ประหนึ่งแผ่นดินเป็นที่รองรับและตั้งลงแห่งสิ่งทั้งหลายทั้งที่มีชีพและหาชีพมิได้ เป็นต้นว่าพฤกษาลดาวัลย์ มหาสิงขรและสัตว์จตุบาท ทวิบาทนานาชนิดบุคคลผู้มีศีลเป็นพื้นใจย่อมอยู่สบายมีความปลอดโปร่งเหมือนเรือนที่ปัดกวาด เช็ดถูเรียบร้อย ปราศจากเรือดและฝุ่นเป็นที่รบกวน”…

…“สวรรค์ อยู่ในอก
และนรก อยู่ในใจ”
เราทำ สิ่งใดไว้
รู้แก่ใจ ของเราเอง

…ดีชั่ว ตัวกำหนด
จะละลด ควรรีบเร่ง
ความชั่ว จงกลัวเกรง
อย่าอวดเบ่ง เพราะถือดี

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๗”

บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๖

…บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๖…

…สิ่งที่จะทำให้เกิดความเจริญในธรรมได้เร็วนั้น ก็คือแนวทางที่จะปฏิบัตินั้นต้องเหมาะสมกับจริตของเรา “ธรรมะสัปปายะ” อันมี “ฉันทะ” ความพึงพอใจในสิ่งที่ทำเป็นพื้นฐานคือการมีศรัทธาในสิ่งที่กระทำ มีความเพียรพยายามที่จะกระทำในสิ่งที่ชอบในสิ่งที่ใช่ ตั้งใจทำไปโดยไม่ทอดทิ้งธุระ กระทำอยู่อย่างสม่ำเสมอมีการคิดพิจารณาใคร่ครวญ ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมันเป็นอย่างไร สิ่งนี้คือ “อิทธิบาท ๔” สิ่งนี้คือแนวทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จทั้งหลาย…

…กวีธรรมนำทางสว่างจิต…

๐ ยกข้อธรรม นำมา สาธยาย
สื่อความหมาย แห่งธรรม นำวิถี
ให้ใคร่ครวญ ทวนทบ พบสิ่งดี
บทกวี ชี้ทาง ห่างอบาย

๐ ทุกถ้อยคำ เน้นย้ำ เรื่องสติ
สมาธิ ตั้งมั่น มีจุดหมาย
มีสติ คุ้มครอง รองรับกาย
เดินตามสาย เส้นทาง อย่างมั่นคง

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๖”

บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๕

…บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๕…

…ฤดูกาลแห่งชีวิต (ความเปลี่ยนแปลง)…

…เมฆดำปกคลุมทั่วท้องฟ้า
สายลมพัดกระโชกผ่านมา
เม็ดกล้าแห่งพืชพันธุ์เบ่งบาน
รอการเริ่มต้นของชีวิตใหม่
เป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า
หน้าฝนกำลังจะมาเยือน
ฤดูกาลใหม่กำลังมาเยือน
เปลี่ยนไปตามฤดูกาล…

…กาลเวลาที่ผ่านไป
เก็บเกี่ยวอะไรได้มากมาย
ได้รู้และเข้าใจในชีวิต
เห็นความถูกผิดในความคิด
และสิ่งที่ได้กระทำที่ผ่านมา
ได้รู้ว่าจุดหมายปลายทางนั้นยังไกล
และต้องก้าวเดินต่อไปสู่จุดหมาย…

…ในอ้อมกอดแห่งขุนเขา
ใต้ร่มเงาหมู่มวลพฤกษา
บนจุดหนึ่งของกาลเวลา
ถามตนเองเสมอว่าแสวงหาสิ่งใด
ทบทวนดูถึงสิ่งที่ผ่านไป
จงรู้ว่าความหวังที่ตั้งไว้
นั้นก้าวไกลถึงไหนแล้ว…

… ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔…

บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๔

…บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๔…

…การรักษาศีลนั้นคือการเจริญสติเพราะผู้ที่รักษาศีลนั้นต้องมีสติอยู่กับกายและจิต ในการที่จะคิด จะพูดและจะทำเรียกว่าต้องสำรวมอินทรีย์อยู่ทุกขณะจิตเพื่อไม่ให้ล่วงละเมิดข้อห้ามของศีลที่รักษาศีลจึงคือที่มาของสติพละ และสิ่งที่ได้มาควบคู่กับสติในการรักษาศีลก็คือองค์แห่งคุณธรรม “หิริและโอตตัปปะ” สิ่งนั้นก็คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป เพราะการที่เราไม่กล้าที่จะล่วงละเมิดข้อห้ามของศีลนั้นเพราะเรามีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป เป็นตัวกระตุ้นเตือนเพื่อให้เกิดจิตสำนึก ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี…

…ปลายทางยังอยู่อีกยาวไกล….

๐ คนไร้ราก ร่อนเร่ พเนจร
ไร้ถิ่นฐาน ถาวร อยู่อาศัย
เพราะเกิดมา มีกรรม จึงทำใจ
ร่อนเร่ไป ตามหน้าที่ เพราะมีกรรม

๐ เคยคิดหยุด ปักหลัก อยากพักบ้าง
หยุดการสร้าง การสอน ที่ซ้ำซ้ำ
ปลีกวิเวก ภาวนา ศึกษาธรรม
แต่ว่ากรรม ยังไม่หมด ต้องอดทน

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๔”

บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๓

…บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๓…

…รางวัลความสำเร็จของชีวิตมิได้วางไว้ที่จุดเริ่มต้น แต่อยู่ปลายทางของชีวิต และหนทางที่ต้องก้าวผ่านไปนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ย่อมมีอุปสรรคขวากหนามอยู่บนเส้นทางที่ย่างผ่าน ทุกอย่างที่ชีวิตได้พานพบล้วนเป็นประสบการณ์ของชีวิต ความพลาดผิดพลาดพลั้งจึงไม่ใช่ความล้มเหลว แต่มันเป็นบทเรียนของชีวิตที่สอนให้เราเรียนรู้…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔…

บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๒

…บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๒…

…อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการ… “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการ เหล่านี้” คือ…

๑. ย่อมได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง
๒. สิ่งที่ได้ฟังแล้วแต่ไม่เข้าใจชัดย่อมเข้าใจชัดขึ้น
๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้
๔. ทำความเห็นให้ตรงถูกต้องได้
๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการเหล่านี้แล”
…ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกายเล่ม ๒๒/๒๗๖…

…แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง…

๐ มีมากมาย หลายหลาก มากเรื่องราว
ถ้าสืบสาว ก็จะเห็น ที่เป็นอยู่
เอาทุกสิ่ง รอบกาย มาเป็นครู
และเรียนรู้ ความคิด ชีวิตคน

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๒”

บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๑

…บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๑…

…ไม่มีคำว่าสายสำหรับการเริ่มต้น มันอยู่ที่ทุกคนจะคิดและทำหรือไม่อย่าได้น้อยใจและโทษวาสนาบารมีต่อว่าตัวเรานั้นไม่ดีไม่มีอำนาจวาสนา เพราะว่าการทำอย่างนั้นเท่ากับเป็นการสาปแช่งตัวเองขาดความศรัทธาเชื่อมั่นในการกระทำของตนเองซึ่งมันจะทำให้มีแต่ความเสื่อมถอยไม่มีความเจริญ…

…โศลกธรรมนำสู่บทกวี…

…เมื่อน้ำนั้นนิ่งใส ก็จะเห็นสิ่งที่อยู่ภายในนั้นชัดเจนถ้าน้ำนั้นยังกระเพื่อมอยู่ก็เห็นได้ไม่ชัดเจนเปรียบกับจิตที่เป็นหนึ่งหยุดนิ่งย่อมรู้หมดมีอะไรรู้หมด เห็นกายเห็นจิตของตนเองได้แล้วก็ย่อมจะรู้และเข้าใจในกายและจิตของผู้อื่นเช่นกัน…

อ่านเพิ่มเติม “บันทึกธรรมย้ำเตือนจิต บทที่ ๘๑”