รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๗๙

…รำพึงธรรมตามรายทาง บทที่ ๗๙…

…อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นแม้นเพียงน้อยนิด แต่ถ้าเรานั้นขาดการพิจารณาเผลอสติเข้าไปปรุงแต่งคล้อยตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้น มันเหมือนกับการไปเพิ่มกำลังให้มัน เพลิดเพลินไปกับการปรุงแต่งเหล่านั้นที่เป็นอกุศลจิต มันก็ก่อให้เกิดการสร้างภพสร้างชาติใหม่ขึ้นมาไม่รู้จักจบสิ้น เพราะการปรุงแต่งทำให้มี ทำให้เป็นนั้น

…เราจึงควรมีสติ รู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นพิจารณาแยกแยะออกให้ได้ ถึงความเป็นกุศลจิตและความเป็นอกุศลจิต ให้เห็นคุณเห็นโทษ เห็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของอารมณ์เหล่านั้น ตามดูตามรู้ให้เท่าทันในความคิดที่เกิดขึ้นทั้งหลาย ด้วยการเจริญสติพิจารณา ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม…

…แต่ถ้าเรานั้นมีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์พิจารณาอยู่ รู้เท่าทันอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นรู้จักข่มกิเลส ดับตัณหาลงได้ ใจเราก็จะไม่เร้าร้อนไม่วุ่นวายทุรนทุราย เพราะไปตามใจกิเลส การที่จะข่มกิเลส ดับตัณหาลงได้นั้นต้องอาศัยปัญญาการคิดพิจารณา ให้เห็นทุกข์เห็นโทษของกิเลสตัณหา จนเกิดความเกรงกลัวและละอายในกิเลสตัณหาขึ้นในจิต มันจะเกิดความยับยั้งขึ้นในจิต ทำให้เราไม่กล้าที่จะคิดและไม่กล้าที่จะทำ

…องค์แห่งคุณธรรมความละอายและเกรงกลัวต่อบาปได้เกิดขึ้นในจิตของเราแล้วและถ้าเราเพียงแต่คิดได้ แต่ยังทำไม่ได้นั้น แสดงว่าเรายังอ่อนกำลัง ยังเป็นผู้พ่ายแพ้ แพ้ต่อกิเลสแพ้ต่อตัณหา ยังเป็นผู้ห่างไกลจากองค์ธรรมเป็นได้เพียงใบลานเปล่า เป็นเช่นภาชนะที่มีรอยรั่วมีประโยชน์ใช้สอยเพียงน้อยนิด เพราะได้แต่คิดเพียงอย่างเดียวแต่ไม่ได้ลงมือทำ…

…ความเบื่อกับความอยากนั้นเป็นของคู่กันเมื่อความอยากเกิดขึ้นจิตก็ดิ้นรนขวนขวายหาเหตุและปัจจัยมาสนองตอบความอยากถ้าสนองตอบตัณหาความอยากได้ จิตก็ยินดีถ้าไม่ได้ตามที่ปรารถนา จิตมันก็เกิดปฏิฆะและเมื่อเสพในความอยากนั้นจนเต็มที่แล้วจิตมันก็จะเบื่อในอารมณ์นั้น ความอยากในสิ่งอื่นก็เข้ามาแทนที่ เป็นเช่นนี้เรื่อยมาคือ “อยาก ๆ เบื่อ ๆ แล้วก็เบื่อ ๆ อยาก ๆ” ตามกำลังของกิเลสตัณหาที่เกิดขึ้น ในแต่ละช่วงของอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งถ้าเราไม่รู้เท่าทันในอารมณ์เหล่านี้ ชีวิตของเราก็จะไม่มีความสุขเพราะเราต้องดิ้นรนขวนขวายหาปัจจัยมาสนองตอบตัณหาไม่สิ้นสุด…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕…

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *