ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๗๒

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๗๒…

…คนเราควรมองผู้มีปัญญาใด ๆ ที่คอยชี้โทษ คอยกล่าวคำขนาบอยู่เสมอไป ว่าคนนั้นแหละคือผู้ชี้ขุมทรัพย์ละ ควรคบบัณฑิตที่เป็นเช่นนั้น เมื่อคบหากับบัณฑิตชนิดนั้นอยู่ ย่อมมีแต่ดีท่าเดียวไม่มีเลวเลย…
…พระไตรปิฎกบาลี สยามรัฐ
๒๕/๒๕/๑๖…

…การกล่าวธรรมนั้น ก็เพื่อชี้แนะทำความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้ฟังซึ่งผู้กล่าวธรรมนั้นต้องกล่าวให้เหมาะสมกับจังหวะ เวลา โอกาสสถานที่และตัวบุคคล “เป็นนักพูดให้รู้จักขอบเขต เป็นนักเทศน์ให้รู้จักเวลา” ต้องดูสภาวะของผู้ฟังว่าเขามีพื้นฐานความพร้อมที่จะรับฟังธรรมขนาดไหนและมีภูมิธรรมพื้นฐานประมาณใดเมื่อกล่าวธรรมไปแล้ว เขาจะรับได้และเข้าใจในทันที การกล่าวธรรมนั้นได้ผลในทันที สิ่งนั้นคือหน้าที่ของผู้ที่กล่าวธรรม…

…บทกวีชี้ทางธรรม…

๐ เรียงร้อย ถ้อยคำ มาเขียน
พากเพียร สืบสาน งานศิลป์
กาพย์กลอน เขียนจาก แผ่นดิน
สืบศิลป์ กวี มีมา

๐ เพื่อเป็น เอกลักษณ์ งานศิลป์
ท้องถิ่น ของชาติ ภาษา
กวี เรียงร้อย เขียนมา
รักษา ซึ่งความ เป็นไทย

๐ กวี ชี้ทาง ชีวิต
ครวญคิด ปรับจิต คิดใหม่
แนวทาง ชีวิต เป็นไป
แฝงไว้ ธรรมะ คละกัน

๐ ให้มี สำนึก ตรึกรู้
ให้ดู ต้นเหตุ ปัญหา
เป็นทาง สร้างจิต ปัญญา
นำพา ชีวิต ถูกทาง

๐ โลกนี้ สับสน วุ่นวาย
มากมาย ปัญหา หลายอย่าง
ควรคิด ปล่อยปละ ละวาง
ออกห่าง จากทุกข์ วุ่นวาย

๐ ให้ใจ สงบ พบสุข
หมดทุกข์ คือสิง มุ่งหมาย
อยากให้ ทุกคน สบาย
ทุกข์หาย หมดโศก โรคภัย

๐ ให้ใจ มีธรรม กุศล
ส่งผล ให้จิต แจ่มใส
ความสุข ทั้งนอก และใน
สุขใจ เพราะธรรม มั่นคง…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
… รวีสัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๒๕ กันยายน ๒๕๖๕…