ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๘๐

…ใคร่ครวญธรรมตามกาลเวลา บทที่ ๘๐…

…อนุวิจฺจการํ กโรหิ…
“จงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงค่อยทำ”
…พุทธสุภาษิต อุปาลีวาทสูตร ๑๓/๖๒…

…“ทำงานทุกชนิดให้จิตนั้นอยู่กับธรรม”คือพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างด้วยหลักธรรมมีสติระลึกรู้และความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา รู้จักแยกแยะถูกผิด ชั่วดี รู้จักข่มจิตข่มใจไม่คล้อยตามกิเลสความอยากทั้งหลายที่เป็นอกุศลกรรม มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปคุ้มครองจิตอยู่ทุกขณะทำหน้าที่ของตนไปตามบทบาทและหน้าที่ให้เต็มกำลังความรู้ความสามารถของตนเอง

…ถ้าทำได้อยู่อย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่าท่านนั้นกำลังปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัติธรรมนั้น คือการทำหน้าที่อย่างมีสติและสัมปชัญญะ ระลึกรู้และรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา มีเจตนาคือกุศลจิตในขณะกระทำ ไม่ก้าวล่วงศีลธรรมและประเพณีที่ดีงาม ทำตามหน้าที่และความรับผิดชอบของตน รู้จักเหตุและผล ในการกระทำนั้นๆ ก็ได้ชื่อว่าท่านเป็นผู้ปฏิบัติธรรมเป็นผู้มีธรรมและอยู่กับธรรม…

…รำพึงกับสายลมหนาว…

๐ เหน็บหนาว ในคืน ฟ้าหม่น
สิ้นฝน ต้นหนาว มาถึง
ดวงจิต ให้คิด คำนึง
ครั้งหนึ่ง ของกาล เวลา

๐ ลมหนาว พัดต้อง ยอดไผ่
สั่นไหว เอนไป ซ้ายขวา
ไผ่นั้น ไม่ล้ม ลงมา
เพราะว่า อ่อนน้อม ถ่อมตน

๐ สายลม พัดโหม กระหน่ำ
พัดซ้ำ ปะทะ ต้นสน
สั่นไหว ไม่อาจ คงทน
ร่วงหล่น ล้มครืน ลงมา

๐ จังหวะ เวลา โอกาส
สามารถ ที่จะ ศึกษา
จงใช้ สติ ปัญญา
นำพา ชีวิต ปลอดภัย…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๓ ตุลาคม ๒๕๖๕…