ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๕๖

…ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๕๖…

…การปฏิบัติธรรมที่ให้เริ่มต้นจากการให้ทานนั้น ก็เพื่อให้เป็นพื้นฐานในการปรับจิต ให้รู้จักคิดเสียสละ ลด ละซึ่งความเห็นแก่ตัว เพื่อให้มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟือเผื่อแผ่ มีพรหมวิหาร ๔ อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต จิตนั้นจะอ่อนโยนลง ไม่หยาบ ไม่แข็งกระด้างเป็นการสร้างคุณธรรมให้แก่จิต แต่ก็ไม่ให้ไปยึดติดในทานนั้นจนเกินไปจนกลายเป็นทิฐิมานะและอัตตา โดยคิดว่าเราดี เราเด่นกว่าผู้อื่น “แม้นน้อยนิดด้วยปัจจัย แต่ยิ่งใหญ่ด้วยอานิสงส์ ถ้าจิตจำนงนั้นบริสุทธิ์” ไตรสิกขา ๓ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้สำหรับประชาชนทั้งหลาย จึงเริ่มต้นด้วยทาน ศีล ภาวนา ซึ่งต้องปฏิบัติให้สอดคล้องต้องกัน เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาจิตให้มีความเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไป…

…ปริสัญญุตา หลักธรรมที่ใช้เข้าหาชุมชน…

…มีหลายหลาก มากมาย หลายความคิด
เพราะต่างจิต ต่างใจ ในทุกที่
เมื่อหลายคน หลายเรื่อง จึงได้มี
ความพอดี พอประมาณ สานสัมพันธ์

…ต้องรู้เขา รู้เรา เอาทุกอย่าง
เป็นแนวทาง มาคิด จิตสร้างสรรค์
ให้สังคม อยู่ด้วย และช่วยกัน
ไม่แบ่งชั้น แบ่งกลุ่ม ให้กลุ้มใจ

… ปริสัญ ญุตา มาเป็นหลัก
คือรู้จัก ชุมชน เริ่มต้นใหม่
รู้บุคคล รู้จักที่ ว่าอย่างไร
ให้เข้าใจ บุคคล ในสังคม

… รู้นิสัย รู้ใจ รู้ความคิด
และรู้จิต รู้ใจ ให้เหมาะสม
ทำในสิ่ง ที่เขาชอบ และชื่นชม
ประสานสม สังคม เป็นหนึ่งเดียว

…ให้เกิดความ ร่วมแรง และร่วมใจ
ทำสิ่งใด ให้เขาได้ มีส่วนเกี่ยว
ให้เกิดความ รักใคร่ และกลมเกลียว
อย่าโดดเดี่ยว เพราะถือตัว และถือตน

…เอาหลักธรรม นำมา ประกอบใช้
และให้ใจ มีธรรมะ ไปทุกหน
ระลึกรู้ ตั้งใจ ไม่กังวล
คือฝึกฝน เอาธรรม มานำทาง

… ธรรมนั้นอยู่ คู่โลก มานานแล้ว
วางเป็นแนว ให้เห็น เป็นแบบอย่าง
เพื่อฝึกจิต ฝึกใจ ให้ละวาง
ให้จิตว่าง จากอัตตา และตัวตน

…รู้จักโลก รู้จักธรรม นำมาใช้
ให้เป็นไป โดยชอบ ในกุศล
รู้จักโลก รู้จักธรรม แล้วทำตน
ให้หลุดพ้น จากโลก ที่วุ่นวาย…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๙ กันยายน ๒๕๖๕…