…ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๖๑…
…เหตุการณ์ในอนาคตนั้น เรามิอาจจะกำหนดให้มันเป็นไป ตามที่ใจเราปรารถนาได้เสมอ ต้องปล่อยให้มันเป็นไปตามเหตุและปัจจัยอะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด เตรียมใจไว้สำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะมีผลในทางบวกหรือทางลบ เราต้องยอมรับกับมันได้ดั่งที่หลวงพ่อจำเนียรท่านได้กล่าวสอนไว้ว่า “เสียอะไรเสียได้แต่อย่าให้ใจเราเสีย” ถ้าใจเราเสียเมื่อไหร่ก็จบกัน ยากที่จะแก้ไขเพราะใจมันไม่สู้แล้ว แต่ถ้าเรามีใจตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเมื่อภัยมา เมื่อเจอปัญหามีสติและสัมปชัญญะ เราย่อมมีโอกาสที่จะหาหนทางแก้ไขได้เรียกว่า “สูญเสียแต่ไม่เสียศูนย์”
…เราจึงต้องฝึกจิตให้นิ่งให้สงบต้องมีสติและสัมปชัญญะคุ้มครองกายและจิต โดยการเจริญสติภาวนาให้เห็นถึงพระไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยงแท้ ความทุกข์ ความเข้าไปยึดถือไม่ได้ของธรรมชาติทั้งหลายที่เราเข้าไปควบคุมให้มันเป็นไปได้ทำให้เกิดธรรมสังเวชในกองทุกข์เมื่อจิตเรารู้ เราเห็น เข้าใจ เราทำได้ใจเราก็ไม่ไปยึดติดในสิ่งเหล่านั้นเมื่อจิตไม่เข้าไปยึดติด ไม่ยึดถือมันก็ไม่เป็นทุกข์ เมื่อไม่มีความทุกข์จิตย่อมหลุดพ้นจากสิ่งสมมุติ เข้าถึงซึ่งวิมุติ ไม่กลับมาอีก เพราะออกจากกองทุกข์เสียแล้วคือถึงพระนิพพาน
…สิ่งนั้น พูดง่าย คิดง่าย แต่ทำได้ยาก เพราะว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนทางจิตต้องฝึกฝนสั่งสมบารมี สร้างอินทรีย์ให้แก่กล้าขึ้นมาทีละเล็ก ทีละน้อยอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีการขาดตอนเพื่อให้สติและสัมปชัญญะมันเต็มรอบเต็มกำลังบุญกุศลบารมีเต็มเปี่ยมแล้วมันจึงจะถึงจุดหมายปลายทางของการปฏิบัติธรรม ซึ่งต้องใช้เวลาและความอดทนในการสั่งสมบารมีอินทรีย์ให้แก่กล้า ต้องใช้เวลาไม่รู้ว่ากี่ภพกี่ชาติบุญบารมีนั้นจึงจะถึงพร้อม แต่ว่าความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จนั้นย่อมอยู่ที่นั่น ตราบใดที่เรายังเดินก้าวไปข้างหน้าอย่างถูกต้องและมั่นคงอยู่เสมอตลอดเวลา จุดหมายปลายทางนั้นย่อมใกล้เข้ามาทุกขณะ ขอจงอย่าท้อใจและเลิกล้มเสียกลางคัน จุดหมายปลายทางนั้นคงจะไม่ไกล…
…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ – สมณะไร้นาม…
…๑๔ กันยายน ๒๕๖๕…