ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๗๐

…ใคร่ครวญธรรมไปตามกาล บทที่ ๗๐…

…ครูบาอาจารย์ท่านกล่าวสอนไว้ให้พิจารณาในเรื่องของการปฏิบัติไว้ว่า…

…ศรัทธามาก ปัญญาหย่อน ความโลภจะเข้าครอบงำจิต

…ปัญญามาก แต่ศรัทธาหย่อน ความสงสัยลังเลจะเข้าครอบงำ

…วิริยะความเพียรกล้า แต่สมาธิหย่อน ความฟุ้งซ่านจะเข้าครอบงำ

…สมาธิกล้า วิริยะความเพียรหย่อน ความง่วงจะเข้าครอบงำ

…สติและสัมปชัญญะนั้น เป็นตัวเข้าไปปรับอินทรีย์พละ ให้มีความเสมอกัน …

…ความเจริญในธรรมนั้นจึงจะเกิดขึ้นได้ โดยองค์แห่งคุณ ๓ ประการคือ…

๑. อาตาปี ความเพียรตั้งใจจริง
๒. สติมา มีสติระลึกรู้เท่าทันอารมณ์
๓. สัมปชาโน มีความรู้ตัวทัวพร้อมทุกขณะ

…องค์คุณทั้ง ๓ นี้จะทำให้เกิดความพอดี ทำให้มีความเจริญก้าวหน้าในธรรม…

๐ เหนื่อยล้า เพราะการ แรมรอน
พักผ่อน เหนื่อยนั้น ก็หาย
เหนื่อยล้า ที่เกิด ที่กาย
สบาย นั้นเกิด ที่ใจ

๐ เหนื่อยกาย อย่าได้ เหนื่อยจิต
ชีวิต ต้องก้าว ต่อไป
ถ้าเกิด เรานั้น เหนื่อยใจ
ทำให้ สูญสิ้น กำลัง

๐ จิตดี ส่งให้ กายเด่น
ต้องเน้น ข้อควร ระวัง
ฝึกจิต ให้มี พลัง
ความหวัง ด้วยแรง ศรัทธา

๐ ศรัทธา ในสิ่ง ที่ดี
ที่มี และได้ ทำมา
ความดี ที่ใน เบื้องหน้า
ภาวนา ทำให้ มันมี

๐ ปลุกจิต อย่าให้ คิดท้อ
อย่ารอ เร่งทำ ทุกที่
ผลบุญ จะช่วย นำชี้
ให้มี ซึ่งความ สุขใจ

๐ พอดี และความ พอเพียง
หาเลี้ยง ชีวิต คิดใหม่
ความสุข นั้นเกิด ที่ใจ
รู้ได้ เมื่อใจ นั้นพอ

๐ พอใจ ในสิ่ง ที่เป็น
ที่เห็น ไม่อยาก เป็นต่อ
เมื่อใจ บอกว่า มันพอ
นี้หนอ ก็คือ พอใจ

๐ พอใจ ในสิ่ง ที่มี
สิ่งที่ เราควร จะได้
ชีวิต จะไม่ วุ่นวาย
สบาย เพราะใจ นั้นพอ…

…ปรารถนาดีด้วยไมตรีจิต…
…รวี สัจจะ-สมณะไร้นาม…
…๒๓ กันยายน ๒๕๖๕…